ไม่พบผลการค้นหา
ครช. ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรม "ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน" ยื่นข้อเรียกร้องให้เร่งรัดจัดทำรัฐธรรมนูญที่ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ครช.ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรม "24 มิถุนายน 2563 ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน" กิจกรรมหลักประกอบด้วยการอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎร การปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ ปัญหาและรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่มาซึ่งแม้จะมีการทำประชามติ แต่เป็นการทำประชามติ ที่ถูกควบคุมโดยผู้มีอำนาจ การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือการณรงค์ให้เกิดการรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไม่เสรี 

แกลอรี่ กิจกรรมทวงคืนมรดกคณะราษฎร หน้ารัฐ_1.jpg

นายอนุสรณ์ อุณโณ ในฐานะผู้นำการจัดกิจกรรม หยิบยกปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าการแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้การกำกับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยไม่มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องจึงไม่มีความยึดโยงกับประชาชน จะพบว่ามีการระดมสรรพกำลังอย่างกว้างขวางและทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติควบคู่ไปกับการปิดกั้น ข่มขู่ คุกคาม และฟ้องร้องดำเนินคดี ผู้นำเสนอข้อมูลอีกด้าน ไม่นับรวมถึง การถือวิสาสะแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ หลังผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

หากแต่สะท้อนความต้องการของกลุ่มบุคคลที่จะสถาปนาอำนาจของตนเอง ในนามของรัฐพร้อมกับลดอำนาจของประชาชน สิทธิของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าหายไป ขณะที่สิทธิบางด้านถูกเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐแต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า รัฐจะทำตามหน้าที่หรือไม่ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังสร้างเงื่อนไขให้ตัวแทนของประชาชนเช่นนักการเมืองและพรรคการเมืองอ่อนแอ อยู่ภายใต้อาณัติขององค์กรที่ไม่ได้มาจากประชาชนหรือยึดโยงกับประชาชนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอย่างกว้างขวางในการกำกับควบคุมพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สิทธิในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมถึงการเป็นปราการด่านสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

แกลอรี่ กิจกรรมทวงคืนมรดกคณะราษฎร หน้ารัฐ_2.jpg

นอกจากนี้หลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยมรดกของคณะราษฎรด้านอื่นๆได้ถูกลบล้างอย่างกว้างขวางภายใต้รัฐบาลคสช. ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่หมุดคณะราษฎรที่หายไปอย่างมีเงื่อนงำ การย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ การย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา และรูปปั้นจอมพลป. พิบูลสงคราม ซึ่งถือเป็นการกระทำและความพยายามลบล้างมรดกของคณะราษฎร และมีแนวโน้มจะขยายวงออกไปเรื่อยๆโดยไม่เคารพต่อข้อเท็จจริงและหลักฐานทางประวัติศาสตร์

แกลอรี่ กิจกรรมทวงคืนมรดกคณะราษฎร หน้ารัฐ.jpg

ซึ่งก่อนหน้านี้ทางคณะ ครช.ได้เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อช่วงกลางเดือนมี.ค. 2563 ที่ผ่านมา เมื่อถึงวันนี้ 24 มิ.ย. 2563 จึงเป็นโอกาสที่จะได้ติดตามทวงถาม ทวงสัญญารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและเป็นโอกาสในการทวงคืนมรดกคณะราษฎรโดยเฉพาะ

1. การแก้ไขหรือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องวางอยู่บนหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนทั้งในแง่ของที่มากระบวนการและเนื้อหา

2. สภาผู้แทนราษฎรจะต้องเร่งยกร่างและเสนอพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภา และดำเนินการให้แล้วเสร็จในสมัยประชุมนี้เพื่อจะได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปลายปีนี้ตามที่กำหนดไว้

3. ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องจัดให้มีกลไกเช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหลักและให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

4. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กำหนดให้องค์กรที่ใช้อำนาจต้องมาจากหรือยึดโยงกับประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง และต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร

หลังอ่านแถลงการณ์เสร็จ ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อาทิ นายวันมูหะมัด นอร์มะทา นายรังสิมันต์ โรม นายนิคม บุญวิเศษ นายชัยธวัช ตุลาธน รวมถึงนายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของประธานรัฐสภาเดินทางมารับ หนังสือเรียกร้องดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่าคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวกำลังพิจารณาเนื้อหาสาระอย่างเข้มข้น

ทั้งในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการปรับปรุงแก้ไขสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยมาแล้วถึง 88 ปี แต่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และมั่นใจว่า คนรุ่นใหม่ พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง เหมือนกับช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ที่มีประชาชนแสดงเจตนารมณ์ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิ่งดังกล่าวมาโดยตลอด 

แกลอรี่ กิจกรรมทวงคืนมรดกคณะราษฎร หน้ารัฐ_0.jpg


อ่านเพิ่มเติม