ไม่พบผลการค้นหา
ศปถ.กำชับดูแลถนนสายหลัก - ทางเลี่ยง - ทางลัด กวดขันขับรถเร็ว-ง่วงหลับใน แนะประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง พบเกิดอุบัติเหตุ 69 ครั้ง เสียชีวิต 72 ราย บาดเจ็บ 591 ราย

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เกิดอุบัติเหตุ 569 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 72 ราย ผู้บาดเจ็บ 591 คน กำชับจังหวัดเข้มข้นจุดตรวจบนเส้นทาง สายหลัก สายรอง และทางเลี่ยง เพิ่มการเรียกตรวจรถเพื่อชะลอความเร็วรถและประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ ป้องกันอุบัติเหตุง่วงหลับใน ควบคู่กับการเร่งระบายรถและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน พร้อมฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ความร่วมมือกับจุดตรวจ และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว หยุดพักรถทุก 1-2 ชั่วโมง เมื่อมีอาการง่วงนอน ให้จอดพักรถตามจุดบริการ เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

153853.jpg

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 569 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 72 ราย ผู้บาดเจ็บ 591 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 44.82 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 29.88 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.62 รถปิกอัพ 6.24 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 59.58 บนถนนกรมทางหลวงร้อยละ 38.84 ถนนใน อบต.หมู่บ้าน ร้อยละ 36.20 ช่วงเวลา ที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 31.28 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,049 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,867 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 959,097 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 194,173 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 51,811 ราย ไม่มีใบขับขี่ 47,150 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (23 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี (จังหวัดละ 4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (27 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (27 - 31 ธ.ค.61) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,761 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 314 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,848 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 10 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (91 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (14 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (96 คน)

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้เป็นวันหยุดสุดท้ายของเทศกาลปีใหม่ คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับเป็นจำนวนมาก ทำให้เส้นทางสายหลักจากภูมิภาคต่างๆ ที่มุ่งเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดมีปริมาณรถหนาแน่น ประกอบกับการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อาจทำให้ผู้ขับขี่มีอาการอ่อนล้า จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่วงหลับใน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้กำชับให้จังหวัดเพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติงานของจุดตรวจบนเส้นทาง สายหลัก สายรอง ทางลัด และทางเลี่ยงเมือง เพื่อชะลอความเร็วรถและประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ พร้อมดูแลจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงระยะทางยาวที่ผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน รวมถึงให้คุมเข้มความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ โดยเพิ่มการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะและตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุรุนแรง นอกจากนี้ ให้จังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น ตลอดจนเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบสื่อสารแจ้งเหตุ ทีมแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย อุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุและส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง 

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า ศูนย์อ��นวยการความปลอดภัยทางถนน ได้สั่งการจังหวัดสนธิกำลังอาสาสมัครอำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง เน้นการเรียกตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (1 ม.ค.62) บางพื้นที่ ยังมีการจัดงานเฉลิมฉลองและงานรื่นเริง ศปถ. จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการมาตรการทางสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านชุมชนเข้มข้นการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่ รวมถึงให้เข้มข้นการดูแลเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านและอำเภอ ซึ่งประชาชนใช้เป็นทางลัดออกสู่ถนนสายหลัก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้น

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ขอฝากเตือนประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจที่ปฏิบัติหน้าที่สร้างความปลอดภัยบนเส้นทางสายต่างๆ พร้อมยึดหลัก “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” โดยปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ หยุดพักรถทุก 1-2 ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถ เมื่อมีอาการง่วงนอนให้จอดพักรถตามจุดบริการต่างๆ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย และเริ่มต้นปีใหม่ 2562 ด้วยความสุขและความปลอดภัย