กลุ่มสื่อมวลชนซึ่งรวมตัวกันในนาม 'นักข่าวอีสาน' และสื่ออิสระ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง "สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน" ให้แสดงจุดยืนต่อกรณี 'สุชาณี (คลัวเทรอ) รุ่งเหมือนพร' อดีตนักข่าววอยซ์ทีวี ถูกบริษัทธรรมเกษตร ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาท และศาลจังหวัดลพบุรีตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา สืบเนื่องจากการรีทวีตข้อความเกี่ยวกับคำพิิพากษาคดีแรงงานฟาร์มไก่ 14 รายเมื่อเดือน ก.ย.2560
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเรียกร้องว่า สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตลอดจนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จะต้องมีท่าทีต่อกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน พร้อมออกมาตรการดูแลปกป้องสื่อมวลชนซึ่งทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมถึงเรียกร้องให้ภาคเอกชนและรัฐหยุดคุกคามสื่อมวลชนด้วยการใช้กฎหมายปิดปาก
สื่อมวลชนอิสระและกลุ่มสื่อในท้องถิ่นที่ร่วมลงชื่อในจดหมายดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มนักข่าวอีสาน, กลุ่มพิราบสูง, Theisaander.com, ISAAN VOICE, Thai NGO, Z-world.in, Newisan.org, คำปิ่น อักษร ผู้ผลิตอิสระ, สันติ ศรีมันตะ ผู้ผลิตสื่ออิสระ, หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด, อติเทพ จันทร์เทศ ผู้สื่อข่าวอิสระ, ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด, เพทาย กันต์นิยม ผู้สื่อข่าวอิสระ, โกวิท โพธิสาร และจามร ศรเพชรนรินทร์
เนื้อหาบางส่วนในจดหมายระบุว่า "จากกรณีศาลจังหวัดลพบุรีมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำคุก น.ส.สุชาณี รุ่งเหมือนพร อดีตผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 ต่อบริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ที่ประกอบธุรกิจฟาร์มไก่ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการรายงานข้อมูลและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
การกระทำดังกล่าวถือเป็นการคุกคามสื่อมวลชนด้วยกฎหมายปิดปากทำให้เกิดความหวาดกลัวและลดทอนความกล้าหาญในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะการทำข่าวสืบสวนสอบสวน เนื่องจากกรณีนี้ น.ส.สุชาณี ได้ติดตามรายงานข่าวการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในภาคการเกษตร และเผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 อันเป็นประโยชน์สาธารณะ เพราะเป็นการรายงานข่าวที่ต้องการช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 14 คน ให้ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานและได้รับการปกป้องสิทธิมนุษยชน
ทว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกลับเพิกเฉย มิได้แสดงจุดยืนหรือดำเนินการต่อกรณีดังกล่าว"
นอกจากนี้ กลุ่มนักข่าวอีสานยังได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการต่อสมาคมสื่อฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่
1. เรียกร้องให้สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกมาแสดงจุดยืนต่อกรณีนี้อย่างเร่งด่วน พร้อมออกมาตรการดูแลปกป้องสื่อมวลชนซึ่งทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ
2. เรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ช่วยเหลือ น.ส.สุชาณี ด้านคดีความจนถึงที่สุด รวมถึงพิจารณาถึงความช่วยเหลืออื่นตามความเหมาะสม แม้ น.ส.สุชาณี ไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทฯ แล้ว แต่ถูกฟ้องร้องในขณะทำหน้าที่สื่อมวลชนให้กับวอยซ์ทีวี
3. เรียกร้องให้ภาคธุรกิจและภาครัฐหยุดใช้กฎหมายปิดปากฟ้องร้องสื่อมวลชนอันเป็นการข่มขู่ คุกคามการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ทั้งนี้ ในส่วนของ 'วอยซ์ทีวี' นั้นได้ติดตามคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือด้านคดีความแก่ 'สุชาณี' รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีมาตลอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: