ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์ออกแบบน้ำแข็งคืนสู่ขั้วโลกเหนือหวังลดอุณหภูมิโลกและลดการละลายของน้ำแข็ง

ผลงานวิจัยที่นำทีมโดย 'ฟาริส ราเจ็ค โคตาฮาตูฮาฮา' สถาปนิกวัย 29 ชาวมาเลเซีย เกี่ยวกับการ "แช่แข็งน้ำแข็งที่ละลายแล้ว" ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากงาน ASA International Design Competition ที่จัดขึ้นในประเทศไทย

ทีมวิจัยออกแบบให้เรือเดินสมุทรสามรถดำลงไปใต้ผิวน้ำเพื่อนำน้ำทะเลที่ได้มาสร้างเป็นภูเขาน้ำแข็ง 6 เหลี่ยม ที่มีความหนา 16 ฟุต หรือประมาณ 4.9 เมตร และมีความกว้าง 82 ฟุต หรือประมาณ 25 เมตร 

ขั้นตอนการสร้างภูเขาน้ำแข็งนี้เริ่มจากการให้เรือเดินสมุทรดำลงไปใต้น้ำเพื่อสูบน้ำทะเลขึ้นมา จากนั้นระบบจะทำการกรองกำจัดเกลือออกไป และแช่แข็งน้ำที่อุณหภูมิมากกว่า 3 องศาฟาเรนไฮต์ หรือที่อุณหภูมิติดลบ 16 อาศาเซลเซียส โดยน้ำแข็งจะถูกแช่เป็นเวลา 1 เดือน ก่อนปล่อยออกสู่ทะเล

ทีมวิจัยเลือกสร้างภูเขาน้ำแข็งออกมาในรูป 6 เหลี่ยม โดยเชื่อว่า น้ำแข็งเหล่านี้เมื่อถูกปล่อยออกสู่ทะเลจะสามารถกลับมาเกาะและรวมตัวกันเป็นภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ได้ 

เนื่องจากงานวิจัยนี้ยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น จึงยังไม่ได้มีกรสรุปว่าตัวเรือเดินสมุทรที่จะนำมาใช้สร้างภูเขาน้ำแข็งเหล่านี้จะใช้พลังงานจากแหล่งใด แต่ทางทีมยืนยันว่าจะใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดและยั่งยืน

'แอนดรูว์ เชฟเพิร์ด' ศาสตราจารย์ด้านการสังเกตโลกจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในอังกฤษ ชี้ว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็น "ทางออกที่น่าสนใจทางวิศวกรรมศาสตร์" อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวยังต้องเผชิญหน้ากับความสามารถในการทำงานจริง แอนดรูว์ ชี้ว่า หากจะสร้างน้ำแข็งขึ้นมาแทนน้ำแข็งที่ละลายไปในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา ทางทีมจำเป็นต้องใช้เรือเดินสมุทรถึง 10 ล้านลำ

อย่างไรก็ตาม การแช่แข็งน้ำแข็ง ไม่ใช่โครงการเดียวที่ทีมของฟาริสกำลังดำเนินการ เขาชี้ว่า การแก้ปัญหาใหญ่ขนาดนี้จำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน และให้หลายส่วนเข้ามาร่วมกัน

อ้างอิง; CNN, VICE