นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 พ.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้งเพิ่มขึ้นอีก 10 หมู่บ้าน จาก 439 หมู่บ้าน เป็น 449 หมู่บ้าน ใน 7 จังหวัด 19 อำเภอ 62 ตำบล ประกอบด้วย พิษณุโลก ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด ชลบุรี และมหาสารคาม ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ เพิ่มขึ้นจาก 16 แห่ง เป็น 17 แห่ง และเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดกลางเพิ่มขึ้นจาก 190 แห่งเป็น 192 แห่ง
ทั้งนี้ จากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี อุดรธานี นครราชสีมา จันทบุรี หัวหิน และสงขลา ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของ จ.เชียงใหม่ ลำปาง กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก เลย ชัยภูมิ หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ มหาสารคาม ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี ระยอง ราชบุรี เพชรบุรี และพัทลุง รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ ร้อยละ 81 ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ ร้อยละ 71 และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.4 แต่เนื่องจากสภาพอากาศบริเวณสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี มีลักษณะปิด จึงไม่สามารถขึ้นปฏิบัติการทำฝนได้ ดังนั้นหน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งบริเวณภาคตะวันออกทันที
ด้านพื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ ร้อยละ 76 ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ ร้อยละ 76 และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.7 หน่วยฯ จ.ลพบุรี จึงขึ้นบินปฏิบัติการภารกิจที่ 1 เสริมการพัฒนาตัวของกลุ่มเมฆบริเวณ อ.สรรพยา จ.ชัยนาถ - อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ และภารกิจที่ 2 เสริมการพัฒนาตัวของกลุ่มเมฆ บริเวณ อ.สามชุก - อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ด้านหน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ประสบภัยแล้งทันที
พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศในหลายจังหวัดมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง มีเพียง จ.เชียงราย พะเยา ลำปาง ที่ยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สำหรับผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ ร้อยละ 75 (ร้องกวาง) ร้อยละ 68 (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ ร้อยละ 79 (ร้องกวาง) ร้อยละ 95 (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.6 (ร้องกวาง) -0.7 (อมก๋อย) หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ จึงตัดสินใจขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 บริเวณ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณ อ.ลี้ จ.ลำพูน - อ.เถิน จ.ลำปาง เป้าหมายเป็นพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง ด้านหน่วยฯ จ.พิษณุโลก ได้วางแผนปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณ อ.สวรรคโลก - อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยมีเป้าหมายช่วยพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร - อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคบางส่วนของ จ.พิษณุโลก
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ ร้อยละ 83 (บ้านผือ) ร้อยละ 73 (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ ร้อยละ 81 (บ้านผือ) ร้อยละ 79 (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.0 (บ้านผือ) -3.6 (พิมาย) หน่วยฯ นครราชสีมา จึงตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 2 บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ อ.วังน้ำเขียว – ทิศใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 2 บริเวณทิศใต้ อ.ปักธงชัย – อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นเขตภัยแล้งบริเวณ อ.สูงเนิน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคบางส่วนของ จ.นครราชสีมา ด้านหน่วยฯ จ.อุดรธานี เนื่องจากสภาพอากาศมีลักษณะปิด จึงขอติดตามสภาพอากาศหากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภารกิจการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า ร้อยละ 30
และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ ร้อยละ 77 (พนม) ร้อยละ 76 (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ ร้อยละ 72 (พนม) ร้อยละ 82 (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.8 (พนม) -2.2 (ปะทิว) แต่เนื่องจากในช่วงเช้าสภาพอากาศมีลักษณะปิด จึงไม่สามารถขึ้นปฏิบัติการทำฝนได้ ดังนั้นหน่วยฯ หัวหิน หน่วยฯ จ.สงขลา และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่าพรุ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ได้รับผลกระทบต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจเฟซบุ๊กกรมฝนหลวงและการบินเกษตร