"การเปลี่ยนฤดูกาลตามธรรมชาติ เชื้อโรคโควิด 19 ย่อมมีโอกาสแพร่ไปได้เร็วและเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนเป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์และกระทบต่อการใช้ทรัพยากรด้านการสาธารณสุขของประเทศ เช่น แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ จนอาจขาดแคลนเข้าวันหนึ่ง อันจะนำมาซึ่งความสูญเสียรุนแรงสุดจะประมาณได้ ดังที่ปรากฏในบางประเทศในขณะนี้"
"รัฐบาลจึงจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสียแต่บัดนี้ เพื่อความไม่ประมาท อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและคลายความวิตกกังวลของ ประชาชน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะช่วงเวลานี้ โดยรัฐบาลจะพิจารณาเลือกใช้เฉพาะมาตรการเท่าที่จำเป็นตามคำแนะนำทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค"
เป็นถ้อยคำของแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 ระบุไว้ถึงความจำเป็นที่จะต้องงัดกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงขึ้นมาบังคับใช้ในสถานการณ์ที่อันกระทบ หรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายหรือการรบหรือการสงคราม
แต่สถานการณ์ในปัจจุบันการใช้กฎหมายปกติไม่อาจยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ต้องขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 เพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563
นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฝ่ายบริหารได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จำนวน 7 ครั้งในก่อนหน้านี้ และล่าสุดเป็นการใช้เพื่อยับยั้งภัยสาธารณะที่เกิดจากโรคระบาดที่กำลังจะแพร่กระจายเป็นวงกว้าง
ครั้งที่ 1 สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2548 และนับแต่นั้นมาได้มีการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ดังกล่าวติดต่อกันอีกหลายฉบับจนถึงปัจจุบัน
ครั้งที่ 2 นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2551 กรณีมีกลุ่มบุคคล (กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ดำเนินกิจกรรมก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ทั้งจะไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธ์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว
การประกาศสถานการณ์ในครั้งนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2551 จากการประกาศเรื่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ประกาศ ข้อกำหนดและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
ครั้งที่ 3 สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่เขตดอนเมืองและเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และ อ.บางพลี อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2551 กรณีกลุ่มบุคคล (กลุ่มพันธมิตรฯ ) บุกเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อย และมิให้กระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคลล ประกอบกับเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแพ่งที่พิพากษาให้บุคคลดังกล่าวออกจากพื้นที่ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
ทั้งนี้มีการประกาศ เรื่องยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่เขตดอนเมือง และเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานครและอําเภอบางพลี และอําเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 9 ธ.ค. 2551 ซึ่งลงนามโดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 4 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 กรณีกลุ่มบุคคล (นปช.บุกเข้าล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน) ดำเนินกิจกรรมก่อให้เกิดความวุ่นวายและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ
ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าวได้สิ้นสุดลงจากการประกาศ เรื่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จ.ชลบุรี ประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 โดยที่สถานการณ์อันเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวได้สิ้นสุดลง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถใช้มาตรการต่างๆตามกฎหมายต่างๆ ระงับยับยั้งและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ตามปกติ และได้ดำเนินการอารักขาคุ้มครองผู้นำประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้เข้าร่วมประชุมของทุกประเทศเดินทางกลับโดยเรียบร้อยปลอดภัย
ครั้งที่ 5 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2552 กรณีมีกลุ่มบุคคล ซึ่งในขณะนั้นเป็นการชุมนุมของกลุ่ม นปช. โดยดำเนินการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือ การสื่อสาร หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายของแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรไทย
รวมทั้งมีการยุยงให้มีการกระทำผิดต่อกฎหมาย ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงและเกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกส่วนหนึ่ง เช่น การปิดถนนจนรัฐบาลขณะนั้นต้องประกาศหยุดราชการเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2552 มีการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล มีการขัดขวางและบุกยึดโรงแรม รอยับ คลิฟ บีช รีสอร์ท สถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 10-12 เม.ย. 2552 มีการขัดขวางการปฏิบัติราชการและพยายามทำร้ายนายกรัฐมนตรี
ซึ่งต่อมาได้มีประกาศ ยกเลิกประสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวฯ ประกาศ ข้อกำหนด คำสั่งที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2552
ครั้งที่ 6 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และ อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 กรณีกลุ่ม นปช. ดำเนินการก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ มีการปลุกระดมเชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา และการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบในหลายพื้นที่
ต่อมาได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือเตรียมการจะก่อเหตุร้ายในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติม จึงได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ดังกล่าว
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในครั้งนี้ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพิ่มเติมในเวลาต่อมา
โดยประกาศฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ จ.ปทุมธานี จ.นครปฐม จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.นครสวรรค์ จ.น่าน จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา และ จ.ศรีสะเกษ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/059/29.PDF)
ประกาศฉบับที่ 3 ในเขตท้องที่ จ.อุบลราชธานี จ.หนองบัวลำภู จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด และ จ.สกลนคร ลงวันที่16 พ.ค. 2553 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/061/20.PDF)
ประกาศฉบับที่ 4 ในเขตท้องที่ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มุกดาหาร ลงวันที่ 19 พ.ค. 2553 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/063/1.PDF )
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน 4 ฉบับได้ถูกขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2553 โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงออกไปอีก 3 เดือน โดยยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ใน จ.กาฬสินธุ์ จ.นครปฐม จ.นครสวรรค์ จ.น่าน และ จ.ศรีสะเกษ
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2553 ก็มีการยกเลิกประกาศสถานกาณ์ฉุกเฉินใน จ.ร้อยเอ็ด จ.ลำปาง และ จ.สกลนคร
วันที่ 29 ก.ค. 2553 มีการประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน จ.ชัยภูมิ จ.ชลบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.มุกดาหาร จ.มหาสารคาม และ จ.หนองบัวลำภู
16 ส.ค. 2553 มีการประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.อุบลราชธานี
30 ก.ย. 2553 มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา และจ.อุดรธานี
5 ต.ค. 2553 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีมติให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ ออกไปอีก 3 เดือน
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และจ.สมุทรปราการ ซึ่งได้ประกาศมาตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2552 จนมีการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2552 และขยายเวลาอีกครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 ต.ค. 2553 ก็ได้สิ้นสุดลงลงเมื่อมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในจังหวัดดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2553 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/147/8.PDF )
ปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อระงับเหตุการณ์ทางการเมืองกินเวลานานถึง 8 เดือนกว่า
ครั้งที่ 7 สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 กรณีกลุ่มบุคคล ( กปปส.) ดำเนินการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาและการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่
อีกทั้ง การกระทําของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบและมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการการเลือกตั้งและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้สิ้นสุดลงเมื่อมีประกาศ เรื่อง ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2557 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/047/7.PDF) รวมระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน
และครั้งที่ 8 ครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 26 มี.ค.- 30 เม.ย. 2563 เพื่อควบคุมมิให้การระบาดของโรคโควิด-19ออกไปในวงกว้าง ประกอบกับมีการกักตุนสินค้า จำเป็นต่อการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค ตลอดจนการกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งต้องป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดแคลนอันจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน กรณีจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
ทั้งนี้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรครั้งนี้จะใช้ระยะเวลามากน้อยเพียงใดในการยับยั้งไม่ให้โรคโควิด-19 แพร่ระบาดออกไปเป็นวงกว้างได้หรือไม่ ยังต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้ที่จะต้องเร่งรีบและแข่งกับเวลาไปพร้อมกันเพื่อไม่ให้สถานการณ์มีความเลวร้ายหรือร้ายแรงไปมากกว่านี้!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง