เฟซบุ๊กออกประกาศสำคัญเมื่อ 3 มี.ค. ชี้แจงการปิด 185 บัญชีเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ประจำเดือน ก.พ. 2564 ในฐานมีพฤติกรรมที่ถูกจัดอยู่ในประเภทพยายามบิดเบือนข้อมูลให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (coordinated inauthentic behaviour: CIB)
จากตัวเลขทั้งหมด แบ่งออกเป็น 77 บัญชีเฟซุบ๊กทั่วไป, 72 เพจเฟซบุ๊ก, 18 กลุ่มในเฟซบุ๊ก และอีก 18 บัญชีบนอินสตาแกรม ซึ่งรายงานระบุว่ามีต้นกำเนินในประเทศไทยและมุ่งเป้ากระจายข้อมูลเหล่านั้นไปยังพื้นที่จังหวัดทางตอนใต้ของประเทศ
เฟซบุ๊กให้คำอธิบายสำคัญว่า สาเหตุที่ต้องปิดบัญชีเหล่านี้เป็นเพราะผู้ใช้งานละเมิดกฎที่เกี่ยวข้องกับ 'การแทรกแซงจากรัฐบาล' เพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยมี "ตัวแทนจากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ"
แนวการดำเนินงานของบัญชีเหล่านี้เน้นการโพสต์ข่าวสารและการอัปเดตสถานการณ์ต่างๆ เป็นภาษาไทย โดยรวมไปถึงเนื้อหาข้อมูลที่สนุบสนุน "กองทัพและสถาบันกษัตริย์ของไทย" ทั้งยังมีการเรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรง พูดถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แน่นอนว่ามีการพาดพิงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นเดียวกัน
บัญชีเหล่านี้มีทั้งมีเป็นบัญชีสามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้จริงและบัญชีปลอม ซึ่งบางส่วนถูกระบบอัตโนมัติจับได้และปิดใช้งานไปแล้ว ขณะที่กลุ่มในเฟซบุ๊กบางกลุ่มแสดงตนเกี่ยวข้องกับกองทัพชัดเจน ขณะที่บางกลุ่มไม่ได้เปิดเผยเช่นนั้น
กลยุทธ์สำคัญของเพจเหล่านี้คือการโพสต์ชุดข้อมูลซ้ำๆ ในหลายช่องทางเพื่อสร้างให้เกิดกระแสนิยมมากกว่าความเป็นจริง บัญชีปลอมจำนวนหนึ่งแสดงตนเป็นพลเมืองจากจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือเป็นผู้หญิงอายุน้อย ผ่านการใช้ภาพสต๊อก หรือภาพที่มีจุดประสงค์เพื่อการขายให้กับเอเจนซี่ โดยบัญชีส่วนใหญ่เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าตกใจกว่าจำนวนบัญชีทั้ง 185 บัญชี คือเฟซบุ๊กพบว่า มีถึง 703,000 บัญชี ที่ติดตามหนึ่งในเพจเฟซบุ๊กที่ถูกปิดไป ขณะที่อีกประมาณ 100,000 บัญชี เข้าร่วมกับกลุ่มเฟซบุ๊กเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม และอีกประมาณ 2,500 บัญชี ติดตามหนึ่งในบัญชีอินสตาแกรมไอโอเหล่านี้
รายงานของเฟซบุ๊กยังแนบตัวอย่างโพสต์จากบัญชีไอโอเหล่านี้ โดยตัวอย่างแรกมาจากเพจ 'พันข่าวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้' ที่โพสต์เมื่อ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงการอัปเดตตัวเลขผู้ติดเชื้อ ขณะที่เพจ 'รู้ทันขบวนการ' หยิบรูปสัญลักษณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐที่ดำเนินงานเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมอ้างว่า "เอ็นจีโอไม่สนใจชาวบ้าน ตาๆ เพียงเพราะเขาไม่ใช่ผู้มีบทบาททางสังคม"
นอกจากประเทศไทย รายงานฉบับนี้ยังสะท้อนการปิดบัญชีในประเทศ อิหร่าน, โมรอคโค และรัสเซีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;