ส่วนอีก 2 กรรมการบริหารคือ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน อดีตกรรมการบริหาร และรมว.การคลัง ที่ร่วมลงมติอนุมัติสินเชื่อ ไม่ถูกสั่งฟ้อง ถูกกันไว้เป็นพยาน หลังให้การซัดทอดพาดพิงไปยัง 'บิ๊กบอส' หรือ 'ซุปเปอร์บอส' คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ที่ผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งให้ปล่อยกู้อย่าง'เลื่อนลอย'
ซึ่งศาลได้จำหน่ายคดีของ ดร.ทักษิณออกจากสารบบความไปแล้ว เนื่องจาก 'ไร้พยานหลักฐาน' ที่ทำให้เชื่อได้ว่า ดร.ทักษิณ คือผู้สั่งการเบื้องหลัง
ทว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 อัยการสูงสุด (อสส.) ก็ได้ยื่นเรื่องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้นำคดีดังกล่าวของ ดร.ทักษิณในฐานะจำเลยที่ 1 กลับมาพิจารณาอีกครั้ง ตามเนื้อหาใหม่ที่กำหนดให้ 'ไต่สวนแบบลับหลัง' พร้อมออกหมายจับฐานหลบหนี นับเป็นคดีที่ 4 ที่มีการรื้อคดีขึ้นไต่สวนลับหลัง ในวันที่ 30 ส.ค.นี้
โดยศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้อง เช่นเดียวกับคดีคดีสั่งกระทรวงการคลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ส่วนคดีโครงการหวยบนดิน มีคำสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา และคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้แก่เมียนมา 4 พันล้านบาท มีคำสั่งจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา
'วอยซ์ ออนไลน์' จึงขอทบทวนสรุป ไทม์ไลน์ของคดี ตลอดจนพลิกย้อนคำให้การของ 'ชัยณรงค์-อุตตม' ที่ 'เลื่อนลอย-ย้อนแย้ง-กลับไปกลับมา' ตลอดจนมีปัญหาขัดแย้งในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต่อกรณี 'บิ๊กบอส-ซุปเปอร์บอส' จนที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งยกฟ้องในวันที่ 30 ส.ค.แล้วนั้น
เมื่อคดีกรุงไทยฯ เริ่มเรื่องแดง ก็ปรากฏคำว่า 'บิ๊กบอส-ซุปเปอร์บอส' จากชัยณรงค์ ให้การอย่าง 'ลอยๆ' ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อ 30 พ.ย. 2547 โดยอ้างถึง ร.ท.สุชายโทรศัพท์มาหาขอให้พิจารณาสินเชื่อ และกำชับว่า 'อย่าสอบถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาอย่างรวดเร็ว' พร้อมพาดพิงถึง นายบุญคลี ปลั่งศิริ ว่า ร.ท.สุขายได้รับการติดต่อมาจาก 'ซุปเปอร์บอส-บิ๊กบอส' ซึ่งไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นใคร
ก่อนพบอาการกลับไปกลับมาเมื่อชัยณรงค์ให้การต่อต่อ สตช. เมื่อ 24 ก.พ. 2548 มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำจาก อย่าถามมากและให้ทำอย่างรวดเร็ว เป็น 'อย่าคัดค้าน'
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังในปัจจุบัน ได้ให้การต่อทั้ง ธปท.เมื่อ 8 ธ.ค. 2547 และสตช. เมื่อ 25 ก.พ. 2538 โดยไม่มีการให้การถึงร.ท.สุชายโดยตรง บอกเพียงได้ฟังข้อความมาจากชัยณรงค์อีกทอดหนึ่งว่า ให้พิจารณาสินเชื่อด้วยความรวดเร็วเท่านั้น ไม่มีคำว่า 'บิ๊กบอส-ซุปเปอร์บอส' แต่อย่างใด แต่มีปรากฎคำว่า 'คนนอก-ผู้ใหญ่' อยู่ในนั้นด้วย
ข้อสังเกตจากคำให้การที่ขัดกับในข้อเท็จจริงคือ ทำไมการอนุมัติสินเชื่อวงเงินตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่ต้องใช้การอนุมัติจากบอร์ดทั้ง 5 คน แบบเอกฉันท์ ร.ท.สุชายจึงติดต่อไปยังชัยณรงค์คนเดียว แต่ไม่ติดต่อไปยังอุตตมหรือบอร์ดรายอื่นๆโดยตรงด้วย ซึ่งจุดนี้ ร.ท.สุชายก็ย้ำในคำให้การหลายครั้ง
กระทั่งเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ขึ้น คณะรัฐประหารก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ รวมถึงคดีปล่อยกู้กรุงไทยฯด้วย
แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า บุคคลที่ถูกแต่งตั้งเป็น คตส.ล้วนแต่เป็นคู่ตรงข้ามของดร.ทักษิณอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความเป็นธรรมในทุกขั้นตอนการดำเนินคดีจนถึงวันนี้
วันที่ 12 ก.พ. 2550 'ชัยณรงค์' ให้การต่อคตส. ระบุชัดเป็นครั้งแรกว่า 'บิ๊กบอส-ซุปเปอร์บอส' ที่อ้างถึงนั้นอาจเป็น ดร.ทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ซึ่งมีลักษณะเป็นการคาดเอา โดยอธิบายว่า ที่คิดว่าเป็นดร.ทักษิณนั้น เนื่องจาก บุญคลี ทำงานให้บริษัทในเครือของดร.ทักษิณ ส่วนร.ท.สุชายเป็นผู้ชอบพูดภาษาอังกฤษ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า 'บิ๊กบอส-ซุปเปอร์บอส' อาจหมายถึงคนในครอบครัวชินวัตร ทว่าการให้การคตส.ครั้งต่อมา
ด้านคำให้การของ นายอุตตมเมื่อ 16 ก.พ. 2550 ก็ยังไม่ถึงร.ท.สุชายที่อ้างกันว่าได้รับคำสั่งจากดร.ทักษิณ ระบุเพียงได้ฟังข้อความมาจากชัยณรงค์อีกทีเหมือนตอนที่ให้การต่อธปท.และสตช.
กระทั่ง 6 มิ.ย. 2550 คตส. สรุปไม่แจ้งข้อกล่าวหานายชัยณรงค์ แต่แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายอุตตม เป็นผู้ถูกล่าวหาที่ 19 หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหา
โดย 'อุตตม' ก็ให้การต่อคตส.เปลี่ยนแปลงไป โดยพาดพิงถึง 'บิ๊กบอส-ซุปเปอบร์บอส' พร้อมคาดเดาว่าอาจจะเป็น ดร.ทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน เป็นครั้งแรกเมื่อ 13 มิ.ย. 2550 เช่นเดียวกับชัยณรงค์
ก่อนที่ทั้งคู่จะมีการกลับคำให้การไปในทำนองเดียวกันอีกครั้ง อย่างน่าประหลาดใจ หลังเวลาผ่านไปเพียง 2 วัน โดย 'ชัยณรงค์' เปลี่ยนคำให้การตัดคุณหญิงพจมาน คาดเดาว่า เป็นดร.ทักษิณเพียงคนเดียวมากกว่า เมื่อ 24 ต.ค. 60 เช่นเดียวกับ 'อุตตม'ที่ให้การแบบเดียวกัน เมื่อ 26 ต.ค. 2560
ข้อสังเกตจากลำดับเวลาคือ หลังรัฐประหาร 'บิ๊กบอส-ซุปเปอร์บอส' ก็ถูกกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยมาทาง ดร.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน
โดยเริ่มจากชัยณรงค์ และตามมาด้วยนายอุตตมที่คำให้การก่อนการรัฐประหารต่อ ธปท.และสตช. กับก่อนการถูกแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ปรากฎ 'บิ๊กบอส-ซุปเปอร์บอส' แต่อย่างใด
แต่แล้วก็เปลี่ยนคำให้การมาสอดคล้องต่อชัยณรงค์มากขึ้นอย่างไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ เมื่อทั้งคู่ให้การตัดชื่อคุณหญิงพจมานทิ้งไป โดยให้การห่างกันแค่วันเดียวคือ 'ชัยณรงค์' 24 ต.ค. 2550 'อุตตม' 26 ต.ค. 2560
นำมาสู่ข้อสังเกตจากแวดงวงกฎหมายในการค้นพบอีกประการคือ คำให้การซัดทอดในครั้งแรกของนายชัยณรงค์และนายอุตตม ยังไม่ชัดเจน อาจทำให้เกิดปัญหาทางคดีในภายหลังหรือไม่ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดระหว่าง ดร.ทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน คตส. จึงให้ทั้งคู่มาให้การเพิ่มเติม โดยพร้อมใจตัดเหลือดร.ทักษิณเพียงคนเดียว เพื่อจะได้ดำเนินการต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ใช่หรือไม่
ทั้งนี้ข้อสังเกตประการสำคัญ ชื่อของนายบุญคลีที่ถูกชัยณรงค์หยิบยกขึ้นกล่าวอ้างว่าคือต้นตอการนำคำสั่งบิ๊กบอส-ซุปเปอร์บอสมาบอกสั่งการอีกทอดอย่างเลื่อนลอยนั้น ปรากฎว่า ทุกหน่วยงาน ที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ ธปท. ป.ป.ช. หรือกระทั่งคตส.เอง ไม่เคย'สอบสวน'หรือ'ฟ้องร้อง'นายบุญคลีแต่อย่างใด
ทั้งที่นายบุญคลีถือเป็นพยานสำคัญและประจักษ์พยานในคดีดังกล่าว ที่ถูกอ้างว่า มีการพาดพิงถึง ดร.ทักษิณ เพียงคนเดียว ซึ่งจะได้นำมาพิสูจน์ต่อการเบิกความของชัยณรงค์และอุตตม แต่ก็ไม่ปรากฎ
แม้ คตส.จะเรียกนายบุญคลีไปสอบสวนเรื่องอื่นๆก็ตาม นี่คือสิ่งที่นายบุญคลีในฐานะพยานจำเลย เปิดเผยในการให้การต่อศาลฎีกาด้วยตนเอง
ที่สำคัญนายบุญคลีได้เบิกความต่อทั้งอัยการโจทก์และทนายจำเลยชัดเจนว่า ไม่เคยรู้จักกับร.ท.สุชายแต่อย่างใด และยืนยันว่า ไม่ว่าดร.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และพานทองแท้ก็ไม่เคยสั่งการเรื่องให้ช่วยขอสินเชื่อต่อร.ท.สุชายแน่นอน
ด้านแหล่งข่าวที่เกาะติดคดีมหากาพย์กว่า 16 ปี เปิดเผยอีกเบื้องหลังในดคีที่สำคัญว่า เมื่อครั้ง ธปท.ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้กับ สตช.นั้น ไม่ได้มีการกล่าวโทษต่อ ดร.ทักษิณแต่อย่างใด
แต่ คตส.เป็นผู้แจ้งให้ ธปท.ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ดร.ทักษิณ เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีในภายหลัง และคตส.ได้แจ้งไปยังธนาคารกรุงไทย ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ดร.ทักษิณ อีกด้วย โดยหนังสือ คตส.ดังกล่าวแจ้งว่าหากธนาคารไม่ดำเนินการ คตส.จะใช้อำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. สั่งการให้ธนาคารดำเนินการ และหากฝ่าฝืนอาจต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือ คตส.อาจกล่าวหาผู้มีอำนาจของธนาคารฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
"ธนาคารกรุงไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามที่ คตส.แจ้งมา ในการร้องทุกข์กล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นธนาคารกรุงไทย ยังไม่เห็นสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานที่คณะกรรมการไต่สวนได้ทำการสอบสวนแต่อย่างใด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นข้อหาหรือฐานความผิด รวมทั้งตัวบุคคลและนิติบุคคล จึงล้วนเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษตามที่ คตส.สั่งให้ดำเนินการทั้งสิ้น"
สุดท้ายที่ยิ่งตอกย้ำความเลื่อนลอย ไร้หลักฐานที่วางอยู่บนข้อเท็จจริง ก่อนมีการไต่สวนลับหลังดร.ทักษิณ ก็อยู่ที่ปากคำและพฤติกรรมอดีต 2 บอร์ดธนาคารกรุงไทย ที่รอดพ้นโทษเอง ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยชัยณรงค์ ได้เบิกความต่อศาลฎีกาว่า
"ร.ท.สุชาย ไม่ได้บอกว่า ซุปเปอร์บอสหรือบอสเป็นใคร แต่คำว่า ซุปเปอร์บอสหรือบอส เป็นคำที่ ร.ท.สุชาย ใช้อยู่เป็นประจำ และในการประชุมคณะกรรมการของธนาคาร เมื่อพูดถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ทุกคนก็จะพูดถึงบอสหรือซุปเปอร์บอส เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยมาให้นโยบายที่ธนาคาร ทุกคนก็ทราบดีว่าเป็นบิ๊กบอสหรือซุปเปอร์บอสของพวกเรา"
ส่วนนายอุตตม รมว.การคลังนั้น ก็ไม่ได้เดินทางไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ต่อศาลฎีกา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าติดภารกิจ ซึ่งพยานปากนี้ถือเป็นประจักษ์พยานในคดีนี้และมีความสำคัญต่อข้อเท็จจริง โดยก่อนหน้านี้นายอุตตม ได้เคยขอเลื่อนการมาเบิกความต่อศาลฎีกาฯ มาแล้ว
ซึ่งน่าสังเกตว่าการที่นายอุตตม ซึ่งเป็นประจักษ์พยานแห่งคดี ไม่ยอมมาเบิกความในฐานะพยานโจทก์นั้นอาจเป็นเพราะนายอุตตม พยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบข้อเท็จจริง และหลีกเลี่ยงการถูกทนายจำเลยซักค้านหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง