ไม่พบผลการค้นหา
บัญชีเฟซบุ๊กของสถานทูตจีนประจำประเทศไทย เผยแพร่วิดีโอติติงสหรัฐอเมริกาโดยระบุว่า ไม่ฟังข้อมูลของจีน กรณี 'โควิด-19' ทั้งยังบกพร่องเรื่องการรับมือโรคระบาด แต่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยจำนวนมาก 'เห็นต่าง' จากสถานทูตจีน

เฟซบุ๊กเพจซึ่งใช้ชื่อว่า Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เผยแพร่คลิปวิดีโอพร้อมคำบรรยายว่า Once Upon A Virus ช่วงสายวันที่ 3 พ.ค. โดยมีเนื้อหาพาดพิงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ซึ่งจีนและสหรัฐอเมริการับมืออย่างแตกต่างกัน

วิดีโอดังกล่าวมีความยาวเพียง 1.46 นาทีเท่านั้น และใช้ตัวการ์ตูนเลโก้ 'รูปปั้นเทพีเสรีภาพ' แทนสหรัฐฯ และรูปปั้น 'ทหารดินเผาในสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี' แทนฝ่ายจีน โดยตัวการ์ตูนทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19

เนื้อหาหลักๆ ที่บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ระบุว่า ทางการจีนได้แจ้งให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ทราบเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 ทั้งยังประกาศล็อกดาวน์เมืองอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

ขณะที่สหรัฐฯ ไม่รับฟังคำเตือนของจีนและกล่าวว่าการล็อกดาวน์เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังบอกให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เดือน มี.ค. สถานการณ์ไวรัสในจีนดีขึ้น แต่สหรัฐฯ กลับแย่ลง เพราะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก ทางสหรัฐฯ จึงกล่าวหาจีนว่าโกหกหรือปิดบังเรื่องข้อมูล ก่อนจะทิ้งท้ายว่าสหรัฐฯ นั้นดื้อดึงอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

ผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากให้ความสนใจวิดีโอดังกล่าว และมีผู้แชร์วิดีโอไปหลายร้อยรายหลังจากเผยแพร่ได้ราว 5 ชั่วโมง ถือเป็นวิิดีโอของเพจนี้ที่มีผู้แชร์มากสุดในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่มองมุมต่างจากเพจ Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพราะหลายคนมองว่า ไวรัสโคโรนา 2019 พบครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นของจีน แต่กลับไม่สามารถเรียกว่า 'ไวรัสอู่ฮั่น' ได้ ขณะที่ 'ไข้หวัดสเปน' ที่พบครั้งแรกในสเปนเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ต้องถูกเรียกว่าไข้หวัดสเปนมาจนถึงปัจจุบันนี้

  • วิดีโอ Once Upon A Virus

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ระบุว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่จำได้คือ แพทย์จีนรายหนึ่งซึ่งออกมาเตือนเรื่องเชื้อไวรัสเป็นรายแรกๆ ถูกทางการจีนจับกุมและกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน และบางรายแย้งว่า สหรัฐฯ ไม่เคยประกาศห้ามประชาชนใส่หน้ากากอนามัย แต่ที่จริงแล้วคือองค์การอนามัยโลก ที่เคยประกาศว่า ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยก็ได้ ทั้งยังประกาศให้โควิด-19 เป็นสถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกล่าช้าอีกด้วย

1-horz.jpg

ส่วนผู้ที่สนับสนุนทางการจีนแสดงความเห็นว่า "ประเทศฝรั่งทั้งหลาย ควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ ก็ต้องหาแพะตลอด" และมองว่า 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดทางการเมือง

"ทรัมป์ต้องการชนะเลิกตั้งต้องโยนความผิดตัวเองให้คนอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ทำตามที่ WHO แนะนำแต่แรก แต่ไปโทษจีน โทษ WHO" ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งกล่าว ทำให้ถูกโต้กลับจากผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งว่า "จีนที่ปิดปากหมอที่พยายามบอกว่ามีโรคระบาดใหม่ก็พอกันอะ" ซึ่งคาดว่าจะหมายถึงนายแพทย์ 'หลี่เหวินเลี่ยง' จากโรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น ที่เสียชีวิตหลังจากเขาถูกจับกุมและกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเมื่อเดือน ธ.ค.2562

5.jpg

ส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แสดงความคิดเห็นเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งคำถามว่า วิดีโอ Once Upon A Virus ที่ใช้ตัวละครของเลโก้ในการนำเสนอ ได้รับอนุญาตจากบริษัทผู้เป็นเจ้าของหรือยัง?

บางรายโพสต์ภาพชายที่ยืนอยู่หน้าขบวนรถถัง (Tank Man) ในเหตุการณ์สังหารผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งของจีน และมีรายงานว่าเป็นภาพที่ถูกปิดกั้นไม่ให้ประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่สามารถเข้าถึงได้ทางระบบสืบค้นข้อมูลออนไลน์

3-horz.jpg

นอกจากนี้ นี่ยังไม่ใช่ครั้งแรกที่เพจ Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีประเด็นเกี่ยวโยงกับการเมืองระหว่างประเทศ เพราะเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา เพจนี้ได้เผยแพร่แถลงการณ์แสดงความกังวลเรื่องความคิดเห็นของผู้คนบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับ 'นโยบายจีนเดียว'

ครั้งนั้นเพจดังกล่าวระบุว่า 'บางคน' หรือ 'เสียงรบกวน' บางอย่าง' ต้องการ“ทำให้เรื่องขยายใหญ่โตลุกลามออกไป พยายามวางแผนมุ่งร้าย ยุแยงเพื่อทำให้ผู้คนผิดใจกัน ซึ่งความคิดนี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” เนื่องจากช่วงนั้นที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย จีน ไต้หวัน และฮ่องกง ถกเถียงกันในประเด็นว่าไต้หวันและฮ่องกงเป็นประเทศไทยหรือไม่ ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ประกาศว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาตลอด และฮ่องกงเป็นเพียงเขตบริหารพิเศษของจีน

แถลงการณ์ในครั้งนั้นของเพจ Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ยังสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ 'ไช่อิงเหวิน' ประธานาธิบดีไต้หวัน ทวีตข้อความเป็นภาษาไทยอวยพรวันสงกรานต์แก่คนไทย ทำให้มีผู้เชื่อมโยงว่าข้อความในเพจนี้อาจหมายถึง ปธน.ไต้หวัน ผู้สนับสนุนแนวคิดอิสรภาพไต้หวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: