ไม่พบผลการค้นหา
ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ระบุ ผู้มีอำนาจ ต้องยุติการใช้อำนาจเกินขอบเขต เรียกร้อง ผบ.ทบ. ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เป็นทหารอาชีพ วอนทุกภาคส่วนสร้างความเข้าใจร่วมกัน ก่อนเกิดจลาจล

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 มองว่า จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถูกตั้งข้อสังเกต ว่าการดำเนินการอะไรก็ตามนอกเหนือจากคำแนะนำของ คสช. อาจเป็นเรื่องยากหรือไม่ สาเหตุสำคัญมีที่มาจากรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องในการนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงทราบดีว่าพรรคการเมืองกลุ่มการเมืองจะหาความเที่ยงธรรมจากผลของรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องยาก ต้องเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองเร่งสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อกติกาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผลการเลือกตั้ง นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง 

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ระบุด้วยว่า ต้องขอความร่วมมือฝ่ายผู้มีอำนาจรวมถึงนายกรัฐมนตรี ต้องไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต อำนาจเกินพอดี สมควรจะต้องหยุดยั้งหรือชะลอออกไป ขณะเดียวกันเห็นว่าความขัดแย้งและการตอบโต้ในเวลานี้จะนำไปสู่ความรุนแรงซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันยับยั้ง นายอดุลย์มองว่าบทบาทของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นเพียงสถานการณ์ใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของซ้ายดัดจริตหรือขวาพิฆาตที่นำมาใช้กล่าวหาสิ่งเหล่านี้ไม่ควรนำมาพูดอีกแล้ว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าท่าทีของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่แท้จริงคือไม่ต้องการให้มีม็อบหรือการจลาจล ซึ่งไม่พึงปรารถนา 

ทั้งนี้มั่นใจว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คือ นักการเมืองหนุ่มเท่านั้น ไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง หรือสถาบันหลักต่างๆ ของประเทศ ดังนั้นการเอาชนะระหว่างผู้นำของ 2 ขั้วอำนาจต้องยุติ ส่วนบทบาทของผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้นำกองทัพ จะต้องเป็นทหารอาชีพ ดูแลประชาชน และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การพูดการให้สัมภาษณ์ต้องมีความชัดเจน ทั้งนี้เห็นว่าฝ่ายผู้มีอำนาจต้องยุติการตั้งข้อหาย้อนหลัง จึงจะสามารถป้องกันความขัดแย้ง สร้างความรักความสามัคคี ให้ประเทศสามารถเดินหน้าไปได้ ซึ่งหากไม่ร่วมพูดคุยและทำความเข้าใจเชื่อว่า หลังการจัดตั้งรัฐบาล จะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายอดุลย์ยังขอให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำที่มิบังควรด้วยการหยุดสร้างความวาทกรรมปลุกเกลียดชังกล่าวหาใส่ร้ายกัน เพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นว่าได้จัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ต่อข้อสงสัยและการร้องเรียนต่างๆจะต้องเร่งตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาด้วยความโปร่งใสแล้วชี้แจงให้กระจ่างชัดเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และหากมีความชัดเจนตามกติกาแล้วทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับกติกาเช่นกัน ซึ่งจะเป็นช่องทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง

2.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯของพรรคการเมืองต้องรู้จักสถานะของตนเอง อย่าดึงกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะจะทำให้กองทัพต้องเผชิญหน้ากับประชาชนสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงได้

3.กรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บอกว่าตนเองไม่ได้ทำงานการเมืองแต่ทำงานพิทักษ์ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์นั้นเป็นภารกิจที่ถูกต้องแล้ว แต่ไม่ควรสร้างวาทกรรม”ขวาพิฆาตซ้าย”ขึ้นมาหรือพูดจายั่วยุอีก และต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองให้ชัดเจน ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศไม่ให้ยอมแพ้ก็ไม่สมควรปลุกระดมมวลชนเช่นนี้อีก การกระทำที่ผ่านมาน่าจะเป็นบทเรียนเพียงพอแล้ว

4.บุคคลที่มีทัศนคติทางลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศแต่กลับยั่วยุประชาชนในประเทศใช้กำลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบฝรั่งเศสเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่เกิดมาเป็นคนไทยและไร้ความรับผิดชอบขอให้หยุดการกระทำที่เลวร้ายเช่นนี้ได้แล้ว 

5.การดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองต้องยกเลิกทั้งหมด เพราะประเทศมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเลือกตั้งเสร็จแล้วกำลังเข้าสู่บรรยากาศปกติตามระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นคดีเก่าหรือคดีใหม่ พนักงานสอบสวนหรืออัยการสามารถใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องได้