ไม่พบผลการค้นหา
"เวทีเปลี่ยนกรุงเทพฯ" เสียดายโอกาสยกระดับเมืองหลวง เหตุกฎระเบียบล้าหลัง รัฐไม่หนุนธุรกิจใหม่ และยังมีการเลือกปฏิบัติ

คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ (กมธ.ติดตามงบประมาณ) จัดเวที ผ่าตัดงบประมาณรวมพลังสร้าง กทม. โดยมีการสัมมนา "รวมพลคนอยากเปลี่ยนกรุงเทพฯ" ที่ชั้น 5 โชว์รูมเบนซ์ ทองหล่อ

การศึกษาที่ดีต้องเท่าเทียม

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการศึกษาที่เท่าเทียมใน 2 ประเด็น คือ โรงเรียนที่ดีและการศึกษาที่ดี โดยเห็นว่าโรงเรียนที่ดี ต้องอยู่ใกล้บ้าน มีอุปกรณ์การเรียนเพียงพอเพื่อประสิทธิภาพการเรียนการสอน ส่วนการศึกษาที่ดี นั้น ต้องสามารถดึงศักยภาพของนักเรียนที่แตกต่างกันออกมาได้อย่างเต็มที่ มีหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องทำให้นักเรียนเป็นพลเมืองอย่างสมบูรณ์ มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วย

ขณะที่ กทม.มี 437 โรงเรียน มีนักเรียนกว่า 400,000 คน งบประมาณ 14,000 ล้านบาทต่อปี แต่มากกว่า 50% เป็นงบประมาณสำหรับบุคลากรหรือค่าจ้างครู ซึ่งถือเป็นการลงทุนทางการศึกษา แต่ไม่ได้ลงถึงนักเรียน หรือไม่ได้นำไปยกระดับคุณภาพการศึกษาให้นักเรียน ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจ ยังเป็นอุปสรรคทางการศึกษาที่ทางโรงเรียนยังไม่ได้มีอิสระในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ดังนั้น การกระจายอำนาจจึงสำคัญในการสร้างการศึกษาที่เท่าเทียม พร้อมยืนยันว่า ถ้ายังจัดสรรและใช้งบประมาณด้านการศึกษาอย่างที่ผ่านมาและเป็นอยู่ จะไม่สามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ลูกหลานไทยก็ยังจะด้อยพัฒนาเหมือนเดิม

กระจายอำนาจให้ทั่วถึง

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย จากบริษัท ช ทวี จำกัด ระบุว่า ปัญหาของประเทศไทยแก้ได้ด้วยเทคโนโลยี และต้องการเปลี่ยน กทม.เป็นเมืองของ "คนที่มีความสุข" ไม่ใช่เมืองเเห่งความสุข ซึ่งวาทกรรมที่คนไม่ได้มีความสุขจริงๆ ซึ่งจะทำได้ต้องไม่หวังพึ่งภาครัฐอย่าวเดียว แต่คนพื้นที่ที่มีศักยภาพต้องรวมตัวกัน ลดอีโก้ลง แล้วทำเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังอะไร 

พร้อมยกตัวอย่าง "ขอนแก่นโมเดล" ที่เอกชนร่วมกันคิดและสร้างรถไฟฟ้าเอง โดยตั้งเป็นบริษัท เข้าตลาดหุ้นและแบ่งผลประโยชน์ให้คนจน ตามกองทุนผู้มีรายได้น้อยของ กลต. และผู้ว่า​ราชการจังหวัดนั่งหัวโต๊ะคู่กับเอกชน โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณภาครัฐอย่างเดียว แม้จะมีงบประมาณท้องถิ่น 35% หรือ 28% ก็ไม่มีปัญหา โดยกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องสนับสนุนอย่างกระทรวงคมนาคม ช่วยศึกษาความเป็นไปได้, การขออนุญาตต่างๆ ต่อกระทรวงมหาดไทย รวมถึงการใช้ประโยขน์ที่ดินรัฐในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ยกระดับสตาร์ทอัพ

สรณัญช์ ชูฉัตร จากบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะจำหน่ายได้ในปีหน้า กล่าวว่า ไม่ใช่แค่จะมาพัฒนา แต่อยากเริ่มใหม่ ที่ สตาร์ทอัพ อยู่ได้และอยากอยู่ เพื่อให้เป็นเมืองที่ไม่ได้มีแค่การท่องเที่ยว แต่เป็นเมืองที่การเติบโตของเศรษฐกิจที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต พร้อมยกตัวอย่างเมืองลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ที่ลงทุนให้เพราะเห็นว่า คือโอกาสที่เมืองจะฟื้นคืน โดยเฉพาะจากผลกระทบของ โควิด-19 และการลงทุนกับ สตาร์ทอัพ ให้เติบโตขึ้นแล้ว ภาครัฐก็ยังเก็บภาษีได้อีก 

สรณัญช์ เสนอ 5 ข้อ เพื่อให้รัฐใช้ประโยชน์หรือสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในการพัฒนากรุงเทพมหานคร คือ 

1.) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต้องออกแบบให้เหมาะสม เพราะบางทีก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร

2.)​ นำปัญหาต่างๆ ออกมาเปิดเผยให้สตาร์ทอัพเข้าใจปัญหา

3.) เปิดเผยกระบวนการและความคืบหน้าให้ประชาชนมีส่วนร่วม

4.) เริ่มให้โครงการเล็กๆ ทดลองหลายๆ กระบวนการ ลองผิดลองถูกได้ อาจจะยังไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง แต่เป็นโครงการทดลองวิจัยต่างๆ ให้พื้นที่การสนับสนุนเพื่อให้สตาร์ทอัพเข้ามาทำงานได้

5.) เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ต่อยอดโอกาสต่างๆ ให้กันและกัน เช่น สตาร์ทอัพนำเทคโนโลยีเข้ามา ส่วนภาครัฐสนับสนุน โดยไม่ต้องแข่งขัน

พร้อมกันนี้ มองว่า รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือ วินมอเตอร์ไซค์ สามารถร่วมมือกับภาครัฐหรือภาครัฐยกระดับให้การขนส่งสาธารณะมีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ทางสตาร์ทอัพเป็นผู้ผลิต ภาครัฐดำเนินการเชิงนโยบาย

อำนวยความสะดวกไม่ใช่ออกกฎควบคุม

วิชัย อริยรัชโตภาส กรรมการพัฒนาชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กทม. ระบุว่า การพัฒนาต้องหวังผลระยะยาว ประชาชนมีส่วนร่วม ภาครัฐเติมเต็มส่วนที่ขาด มีความยั่งยืนไม่ทำลายความวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชุมชน มีกลไกและระบบช่วยประคับประคอง สนับสนุนคนตัวเล็กตัวน้อยให้มีอาชีพ โดยเห็นว่าหน้าที่ของรัฐ คือให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน ไม่ใช่ออกกฎหมายควบคุม แล้วให้ประชาชนขออนุญาตทุกๆเรื่อง รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ และสนับสนุนให้ข้าราชการใช้บริการสาธารณะ นอกจากนี้สวนสาธารณะและสถานที่ต่างๆควรออกแบบให้เอื้ออำนวยต่อคนพิการด้วย เพราะผู้พิการไม่ใช่ สปีชีส์ที่ภาครัฐต้องนึกถึงเป็นลำดับสุดท้าย แต่คือประชาชนผู้เสียภาษีเช่นกัน 

วิชัย กล่าวถึงกรณีผู้สูงอายุ, นักศึกษาและผู้ด้อยโอกาส โดยเห็นว่า ถ้าไม่เรียนรู้หรือปรับตัว ในอนาคตจะอยู่ยากขึ้น ดังนั้น ต้องช่วยให้คนเหล่านี้ไม่ให้ถูกกระแสนิวนอร์มัลกวาดล้างหายไป ต้องมีศูนฝึกอบรมศูนย์การเรียนรู้อบรมพัฒนาอาชีพที่สอดคล้อง และหาพื้นที่ขายหรือตลาดให้ โดย กทม.จัดหาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำเป็นพื้นที่ผ่อนผัน ให้ชาวบ้านค้าขายได้โดยไม่ต้องเก็บค่าเช่า ให้แต่ละคนรับผิดชอบความสะอาดพื้นที่ ส่วน กทม.แค่จัดระเบียบ โดยวิธีเอาบทเรียนที่เคยกวาดล้าง Food Street เมื่อหลายปีที่แล้วมาปรับปรุงแก้ไข ให้ได้ประโยชน์และอยู่ร่วมกันได้และทำให้กลับมาเป็นเสน่ห์ของ กทม.รวมถึงเป็นจุดเด่นการท่องเที่ยว นำรายได้เข้าประเทศด้วย

รัฐส่งเสริมธุรกิจบันเทิงมากขึ้น

เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ CEO ZAAP Party เกี่ยวกับการจัด Event กล่าวว่า ขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงของวัยรุ่นเพื่อจะบอกว่า กทม.มีอีกหลายมิติ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้นได้และมองว่า การจำกัดเวลาสถานบันเทิงหรืองานรื่นเริง Event ต่างๆ ไม่เกินเที่ยงคืนหรือตีสองนั้น ยังเป็นอุปสรรคและเสียโอกาสทางรายได้ โดยงานหนึ่งงาน ไม่ได้มีแค่ส่วนงานเดียว โดยยกตัวอย่าง งานวัดที่มีร้านค้าจำนวนมากเปิดขาย รวมถึงรถจักรยานยนต์รับจ้างและอื่นๆ ได้ประโยชน์ ขณะที่วัยรุ่นมีความคิดสร้างสรรค์สามารถออกแบบงานดึงดูดผู้ร่วมงานได้จำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยสนใจงานลักษณะนี้มีแต่เอกชนดำเนินการ ส่วนงานเปิดร้านขายของต่างๆ ของภาครัฐ กระจุกตัวทั้งแง่ผู้ค้าและสถานที่ ซึ่งไม่ทั่วถึงและไม่สะดวกในการไปจับจ่ายใช้สอยของผู้ที่สนใจ

ส่วนการท่องเที่ยวและศิลปะรูปแบบใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ กทม.ยังไม่มีพื้นที่ให้ พร้อมยืนยันว่าถ้าภาครัฐจัดที่ให้ งานสามารถสร้างรายได้ให้ผู้จัดงาน, ผู้ค้าผู้ขายและนำรายได้เข้าประเทศได้ด้วย แต่ปัจจุบันเงื่อนไขกฎระเบียบต่างๆจะเป็นอุปสรรครวมถึงนโยบายของทางภาครัฐที่ไม่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง แม้แต่ผับ บาร์ของไทยติดระดับท็อปของเอเชียหลายแห่ง ซึ่งถือว่าประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในแง่นี้เท่าที่ควรและน่าเสียดายโอกาส พร้อมกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่ควรปิดโอกาสคนกลางคืน เพราะคนใช้ชีวิตกลางคืนมีจำนวนมาก

พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเปิดช่องสะท้อนรัฐ

ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ CEO JIB Digital Consult ระบุว่า ทั้ง โซเชียลมีเดียมีรายได้มหาศาล มีสินทรัพย์ก็คือ ข้อมูลผ่านการนำเสนอต่างๆ ทั้งผู้บริโภคซึ่งผู้บริโภคทั้งรับและให้ข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งปัจจุบันการใช้ข้อมูลในยุคดิจิทัล จะลดการมโนหรือคิดไปเองในการตัดสินใจ เพราะทำให้การตัดสินใจ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบเรื่องต่างๆ และพยากรณ์สถานการณ์ได้อย่างเม่นยำ รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที พร้อมแนะนำการตัดสินใจทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน 2 ข้อคือ

1.) ถามตัวเองตลอดเวลาว่าการตัดสินใจนี้เป็นไปตามข้อมูลหรือคิดไปเอง

2.) ข้อมูลรอบด้านหรือไม่ ยิ่งมีข้อมูลรอบด้านหลายมิติการตัดสินใจก็จะถี่ถ้วนขึ้น

ธรรม์ธีร์ ระบุด้วยว่า แม้นักการเมืองหรือตัวแทนประชาชนและภาครัฐ มีข้อมูลทั้งหมดในการตั้งคำถามและหาคำตอบในเรื่องต่าง แต่จะสิ่งสำคัญคือ จะคิดเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาหรือไม่ ส่วนตัวอยากเห็นระบบบริหารข้อมูลจริงเพื่อประชาชนทุกคน เป็นระบบที่ช่วยให้ประชาชนสะท้อนปัญหาสู่ภาครัฐ ตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือเสนอนโยบาย ผ่าน platform ได้ จะนำสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุด พร้อมยืนยันว่า การให้ข้อมูลกับประชาชน ก็คือ "การให้พลังกับประชาชนและเมื่อประชาชนมีพลังมากพอ ก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้" 

ยก 50 เขตโมเดล สู่ถนนสตรีทฟู้ด-สตรีทอาร์ต

ต่อพงษ์ วงศ์เสถียรชัย จากบริษัท เลิฟอันดามัน ระบุว่า ประเทศไทยสามารถนำความแตกต่างของ กทม.ออกมาขายได้ โดยไม่จำเป็นต้องลอกแบบต่างประเทศ โดยเฉพาะสตรีทฟู้ดที่เป็นเสน่ห์การท่องเที่ยว แต่อาจมีโมเดลต่างประเทศไว้เพื่อเตรียมการ เมื่อหมดโควิด -​19 หรือไทยเปิดประเทศ ก็สามารถดำเนินการได้เลยก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง และในฐานะเมืองหลวง ไม่สามารถเป็นแม่แบบได้ เมืองอื่นก็ไม่สามารถเดินทางตามได้ ในขณะที่เมืองเก่าที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกยกระดับให้มีเสน่ห์ได้

ตนจึงอยากเห็น ทั้ง 50 เขตใน กทม.กับถนนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์อย่างน้อยต้องฟื้นฟูสตรีทฟู้ด-สตรีทอาร์ต ขึ้นมาประจำแต่ละเขตและอื่นๆ ฝากถึงผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องด้วยว่าถ้ามองทุกอย่างเป็นกฎ 1-2-3-4 แต่ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนหรือสร้างโอกาสสร้างรายได้ กฎเหล่านั้นต้องถูกแก้ โดยต้องสร้างกฎใหม่ให้ประชาชนอยู่ได้และต้องมีรายได้ด้วย ที่ผ่านมาแม้รัฐมีหลายนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่ไม่มีการปฏิบัติที่เป็นจริงได้

ปลดล็อก Sex worker 

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยมีกฎหมายและเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติและสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ ในส่วน Sex worker ผู้บริการทางเพศในไทย มีอยู่ประมาณ 300,000 กว่าคน ใน กทม.มี 10,000 กว่าคน ทั้งชาย-หญิงและ LGBT สร้างรายได้ให้ประเทศปีละหลายล้านบาท แต่ภาษีเหล่านี้ไม่เคยกลับมาหาพวกเขาเลย พร้อมยืนยันว่า sex worker มีศักดิ์ศรีไม่ต่างจากนายกรัฐมนตรีและไม่ใช่การค้ามนุษย์ เพราะเป็นการตัดสินใจเลือกของผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว โดยเรียกร้องในประเด็นนี้คือ 

1.) ยกเลิกกฎหมายค้าประเวณี ก็มีกฎหมายอื่นๆ ทั้ง พ.ร.บ.เด็กและการค้ามนุษย์ดูแลได้    

2.) คุ้มครองพนักงานบริการ (sex worker)​ ตามกฎหมายแรงงาน โดยไม่ต้องให้ลงทะเบียน 

3.) ร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศ 

ส่วนประเด็น LGBT นั้น สถานบันเทิงบางแห่งไม่ยอมให้กระเทยเข้าใช้บริการ, สภากาชาดไม่รับการบริจาคเลือดจากเกย์-กะเทย และมีการเลือกปฏิบัติอีกหลายอย่าง พร้อมเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียม, ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพ ที่ไม่ใช่แค่ชายกับหญิงเท่านั้น, การเข้าถึงฮอร์โมนของผู้ต้องขังในเรือนจำที่เป็นคนข้ามเพศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องความสวยความงามแต่เป็นเรื่องสุขภาพ, 

สำหรับเรื่องการศึกษานั้น เรียกร้องให้ต้องแก้ไขหลักสูตรแกนกลาง ไม่เลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ, ยุติการปิดกั้นไม่ให้คนข้ามเพศเข้าทำงาน, ต้องมีวันลาหยุดในการผ่าตัดแปลงเพศ ในลักษณะเหมือนกับการลาคลอดบุตร และอยากให้กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบของห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศสภาพ รองรับกลุ่มหลายทางเพศด้วย รวมทั้งเสนอว่า ไทยต้องมี Thailand Pride โดยจัดที่ กทม.และระบุลงในปฏิทินเป็นเทศกาล ให้สมกับสมญานามว่า "สรวงสวรรค์ของ LGBT" ด้วย