ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 4/2562 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2562 กล่าวว่า การประชุมในวันนี้
สืบเนื่องจากการที่ได้มอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งแก้ไขปัญหากรณีเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ไม่ประสงค์จะทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อไปและขอคืนสิทธิให้แก่ ส.ป.ก. เนื่องจากชราภาพ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือประสงค์จะประกอบอาชีพอื่น และไม่มีทายาทหรือมีทายาท แต่ทายาทนั้นไม่ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงให้ ส.ป.ก.กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อจ่ายค่าชดเชยการคืนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรดังกล่าว
โดยมติที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบให้นำเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาใช้เพื่อจ่ายเป็นค่าชดเชยได้ แต่ทั้งนี้การดำเนินการแก้ปัญหาจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบคอบ ส.ป.ก. จึงได้เสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แก่ คปก. ภายใต้โครงการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรและประชาชน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
แผนระยะที่ 1 หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจการจ่ายเงินกองทุนเพื่อดำเนินงานการตามนโยบายข้างต้น
แผนระยะที่ 2 แก้ไขปรับปรุงระเบียบและมติ คปก. เกี่ยวกับการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว และปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการจัดที่ดินให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน
แผนระยะที่ 3 แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินฯ ให้ครอบคลุมถึงประเด็นการใช้จ่ายเงินกองทุน เพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายดังกล่าว โดยดำเนินการตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
นอกจากนี้ เลขาธิการ ส.ป.ก. ยังกล่าวต่อไปว่า การประชุมในวันนี้ยังมีวาระที่สำคัญในการเห็นชอบวงเงินกู้เพื่อฟื้นฟูอาชีพพร้อมดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินกรณีได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและไม่มีหนี้เงินกู้ค้างชำระกับ ส.ป.ก. รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 3 ปี โดยยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยในปีที่ 1 หลังจากนั้นจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหนี้สินแก่เกษตรกร
พร้อมกันนี้ยังอนุญาตให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างวัดพระธาตุจอมกิตติ จ.น่าน วัดศรีมงคลวนาราม จ.หนองคาย และวัดลานนางฟ้า จ.ลพบุรี