ไม่พบผลการค้นหา
Voice ชวนสำรวจแนวคิดของ 4 พรรคใหญ่ ว่าด้วยเรื่องค่าไฟ พวกเขาจะทำอย่างไรเพื่อคลี่คลายวิกฤตนี้

อากาศร้อนระอุในเดือนเมษายน อาจยังไม่สาหัสเท่าตัวเลขที่ปรากฏบนบิลค่าไฟ หลายบ้านต้องแบกรับค่าไฟที่พุ่งขึ้นสูงเป็นเท่าตัว ผู้ประกอบการหลายรายต่างออกมาตั้งคำถามถึงสาเหตุค่าไฟแพง ที่อาจมีเบื้องหลังอันซับซ้อนซุกซ่อนอยู่ในเงามืด

ทันทีที่กระแส ‘ค่าไฟแพง’ ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียล หลายพรรคการเมืองก็ต่างออกมาโชว์วิสัยทัศน์ด้านพลังงาน บ้างก็ออกมาแจกแจงวิธีการแก้ปัญหาหากพรรคของตนชนะการเลือกตั้ง และบ้างก็ออกมาประกาศลดค่าไฟฟ้าเสียดื้อๆ แต่ไร้ซึ่งวิธีการประกอบ

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภองค์กรของผู้บริโภค มองว่า หลายพรรคการเมืองที่ต่างออกมาเสนอลดค่าไฟในครัวเรือนเกทับกันอยู่นั้น ในทางปฏิบัติแล้วสามารถทำได้ทั้งนั้น ประเด็นสำคัญคือ ทิศทางด้านพลังงานของประเทศไทย ตามแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าหรือ (PDP) ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นั้น มีปัญหา เพราะได้ออกแบบโดยไม่ถูกตรวจสอบรอบด้าน อีกทั้งรัฐบาลได้ทำสัญญาประกันกำไรให้เอกชน ตลอดระยะเวลาอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการพลังงานที่ไม่สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งต้นทุนของการมีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น ถูกนำมาคิดในโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่ให้ประชาชนเป็นคนรับภาระ

นั่นแปลว่า รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ต้องมีการตรวบสอบแผนพลังงานดังกล่าว และปลดล็อกสัญญาที่ผูกมัดประเทศ ตลอดจนต้องเกิดการเจรจาเพื่อต่อรองผลประโยชน์อีกครั้ง

Voice ชวนสำรวจแนวคิดของ 4 พรรคใหญ่ ว่าด้วยเรื่องค่าไฟ พวกเขาจะทำอย่างไรเพื่อคลี่คลายวิกฤตนี้

▶▶▶ พลังประชารัฐ

● ไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาจาก 4 แห่งใหญ่ ๆ คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่, ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก, ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากนั้นก็จะจ่ายไฟฟ้าไปยังธุรกิจ อุตสาหกรรมและประชาชน

● คนไทยทั้งประเทศ ใช้ไฟฟ้าประมาณ 200,000 ล้านหน่วยต่อปี โดยประเภทผู้ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ราว 67% รองลงมาคือที่อยู่อาศัยราว 28%

● โครงสร้างราคาไฟฟ้า มีสิ่งที่เรียกว่า ค่าไฟฟ้าฐาน ราว 3.78 บาท (ค่าไฟฟ้าที่คิดจากต้นทุนการผลิตและการให้บริการไฟฟ้า) บวกกับค่า Ft ราว 0.98 บาท รวมกันเป็นค่าไฟฟ้าต่อหน่วย 4.77 บาท (ราคาเดือนพฤษภาคม - สิงหาคมที่จะถึงนี้) ซึ่งถือว่าแพงมาก

● ปัจจุบันนี้ อัตราค่าไฟของประเทศในอาเซียน ประเทศไทยถือว่าแพงที่สุด พรรคพลังประชารัฐจึงจะแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยการรื้อและปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ภายใต้กรอบวินัยการเงินและการคลัง ดังนี้

● ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่ต่างกัน เช่น ลิกไนต์ พลังน้ำ ฯลฯ ราคาจะต่างกัน แต่รวมๆ แล้ว เราจะดูที่ราคาต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้า ที่นำมาถัวเฉลี่ยแล้ว จะอยู่ที่ 3.52 บาท ต่อหน่วย

● ข้อมูลกระทรวงพลังงาน (8 มีนาคม) ระบุว่า ได้ดำเนินการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเพื่อเริ่มต้นสัญญาใหม่แบบ ‘แบ่งปันผลผลิต​’ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดต่ำลง​จาก 279 – 324 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศลดต่ำลงซึ่งประชาชน​ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้ประโยชน์

● ตามสัญญาดังกล่าว จะทำให้แหล่งก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า ถูกลงมากกว่า 50% และจะทำให้ราคาต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้า ลดลงจาก3.52 บาท เหลือ 2.25 บาท ต่อหน่วย

● ที่ผ่านมา หนี้ของ กฟผ. กว่า 1.5 แสนล้านบาท เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ กฟผ แบกรับค่า Ft แทนประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งต้องแบกภาระหนี้และอยู่ในภาวะใกล้ขาดสภาพคล่อง

● พรรคพลังประชารัฐระบุว่า จะงดเก็บค่า Ft ในอัตรา 0.9827 บาทต่อหน่วย โดยระหว่างปรับปรุงโครงสร้างพลังงานไฟฟ้า จะใช้วิธีพักชำระหนี้ของ กฟผ. ประมาณ 150,000 ล้านบาทเป็นเวลา 1 ปี โดยรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐจะเป็นคนค้ำประกันนี้ก้อนนี้ของ กฟผ. ซึ่งจะทำให้ราคาไฟฟ้าลดลง 0.9827 บาท/หน่วย

● ทั้งนี้ จากเดิมราคาค่าไฟคือ 4.77 บาทต่อหน่วย (ราคาเดือนพฤษภาคม - สิงหาคมที่จะถึงนี้) พลังประชาชนรัฐยืนยันว่า หากดำเนินการตามนโยบายของพรรค ค่าผลิตไฟฟ้าลดลด 1.27 และค่า Ft ลดลง 0.9827 บาท/หน่วย รวมแล้วราคาไฟฟ้าใหม่จะอยู่ที่ 2.5173 บาทต่อหน่วย เป็นราคาที่เหมาะสมและสามารถทำได้ทันที

▶▶▶ เพื่อไทย

● ค่าไฟ คือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นต้นทุนในภาคอุตสาหกรรม หากภาคการผลิตแบกค่าไฟแพง ที่สุดแล้วจะกระทบราคาสินค้า ค่าขนส่ง ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมส่งหนังสือไปที่รัฐบาลหลายครั้งให้ดูแลเรื่องค่าไฟแพง แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

● ประชาชนต้องแบกต้นทุนที่เกิดจากไฟฟ้าในระบบ ซึ่งต้องมีค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) โดยรัฐบาลจะจ่ายให้กับโรงไฟฟ้า เพื่อให้โรงไฟฟ้ายังคงเดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในส่วนนี้ประชาชนต้องร่วมจ่ายด้วย แปลว่า ไม่ว่าโรงไฟฟ้านั้นๆ จะเดินเครื่องหรือไม่ก็ตาม รัฐก็ต้องจ่ายเงินตามหลักการ ‘ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย’ (take or pay) ปัญหานี้เกิดจากรัฐบาลไปทำสัญญาซื้อไฟฟ้ากับเอกชนที่ผูกมัดตนเอง

● ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องใช้จริง 54% ในขณะที่ความต้องการใช้จริง อยู่ที่ 15% เท่านั้น ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลประเมินการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 54% ตัวเลขนี้สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองจะอยู่ราว 15-20% เท่านั้น หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า แผนดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนผู้จัดทำโรงไฟฟ้าหรือไม่

● การที่ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองถึง 54% นั้น เกิดจากสัญญาอันไม่เป็นธรรมระหว่างรัฐกับนายทุนเอกชน เพื่อไทยมองว่า ปัญหานี้ไม่ง่ายในการจัดการ แต่ก็ยังพอมีช่องทางเจรจาและบริหารด้านการเงินอยู่ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยพยายามเจรจากับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าเลย

● สิ่งที่เพื่อไทยจะทำคือเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับปริมาณสำรองที่สั่งซื้อจากเอกชน และต้องปรับลดราคาค่าไฟฟ้าตามต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริง โดยค่าไฟฟ้านั้น เกิดขึ้นจากการผลิตตามความจำเป็นของ demand-side แต่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ เกินความต้องการของตลาด หากกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้นเฉลี่ย 5% ตามนโยบายพรรค จะทำให้การใช้ฐานความต้องการใหญ่ขึ้น และกำลังการผลิตที่มีสำรองไว้สำหรับกิจการ (Idle Capacity) ถูกใช้มากขึ้น ก็จะทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพดีขึ้น

● ยกตัวอย่างว่า หากสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้น พลังงานไฟฟ้าที่สำรองเกิน 54% ก็จะถูกใช้มากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการใช้รถน้ำมันเป็นรถใช้ไฟฟ้า พลังงานที่สำรองเกินอยู่ก็จะถูกใช้ไปด้วย ทุกอย่างต้องมองทั้งระบบ

● ในระยะยาว แหล่งก๊าซธรรมชาติของคนไทยต้องใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่ผ่านมา รัฐบาลปล่อยให้การลงทุนชะงักไป 3 ปี และเพิ่งเริ่มการลงทุนใหม่ไม่นานมานี้ โดยนายแพทย์พรมินทร์ เท้าความว่า เมื่อครั้งตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้อยู่ในระหว่างการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ผ่านมา 20 ปี ยังไม่บรรลุข้อตกลง หากพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาลจะเร่งดำเนินการเจรจาให้แล้วเสร็จ และจะจัดหาแหล่งก๊าซร่วมกับกัมพูชาเพิ่มเติม เพื่อลดค่าใช้จ่ายประชาชนลงให้ได้

● ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าผลิตอยู่ที่ 60% สายไฟฟ้า 25% หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะกระจายโรงไฟ้าออกไปให้ใกล้กับความต้องการของประชาชน ซึ่งจะประหยัดในส่วนสายไฟฟ้า 25% ออกไป ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และอื่นๆ ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้

● จริงอยู่ที่สมัย ‘นายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’เป็นผู้เซ็นอนุมัติโรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหากย้อนไปช่วงนั้นพบว่า GDP ประเทศไทยเติบโตประมาณ 7% ดังนั้นการมีกิโลวัตถ์ไฟฟ้าที่เหลือ เพื่อการรองรับเศรษฐกิจที่โตขึ้นจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม

● แต่ 8 ปีที่ผ่านมา GDP ไทยโตต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ จากการบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ หากจะใช้ข้ออ้างว่า ต้องมีส่วนเพิ่มเติมตามขีดความสามารถของเศรษฐกิจ (Access capacity ) ให้มากกว่า 54% ถือว่าไม่ค่อยเหมาะสม

● อีกทั้งการทำรัฐประหารของ คสช. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชุดใหม่ และไม่มีการเปิดประมูลให้ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระเข้ามาอีก และไม่มีการเจรจากับภาคเอกชน ทั้งที่การใช้พลังงานของประเทศลดลง ดังนั้นจึงต้องเข้าไปเจรจากับโรงไฟฟ้าเพื่อปรับลดการผลิตไฟฟ้าโดยทำอย่างเป็นธรรม

● ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 กำลังระบาด มีการปิดโรงไฟฟ้า 7-9 โรง แต่โรงไฟฟ้าเหล่านั้นยังได้รับรายได้เหมือนเดิม อีกทั้ง 6 เดือนก่อนยุบสภา มีการเจรจาซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก 3 แหล่ง ราว 1,000 กิโลวัตถ์ และมีการทำสัญญาอนุมัติที่เขื่อนหลวงพระบางอีก 35 ปี ซึ่งเปรียบเสมือนการล็อคตัวเองไว้กับค่าใช้จ่าย ซึ่งปกติแล้ว ควรทำสัญญาที่มีความยืดหยุ่นมากกว่านี้

▶▶▶ รวมไทยสร้างชาติ

18 เมษายน 2566 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุนโยบายพลังงานว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ราคาไฟฟ้าลดลง โดยจะกำหนดราคาให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือเกษตรกรที่ใช้ไฟในการดำเนินชีวิต หรือทำมาหากินเพื่อแบ่งเบาภาระ และช่วยลดต้นทุนให้ โดยคำนวณมาแล้วจะอยู่ที่ประมาณยูนิตละ 3.90 บาท

อย่างไรก็ตาม รวมไทยสร้างชาติ ยังไม่เปิดเผยถึงวิธีการดำเนินนโยบาย ว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดขึ้นจริงตามที่กล่าวอ้าง

▶▶▶ ก้าวไกล

● ก้าวไกลเสนอใช้กลไกของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า ลดค่าไฟ 70 สตางค์ต่อหน่วยโดยทำในปีแรก และเป็นนโยบายเร่งด่วนภายใน 100 วัน หลังจากได้เป็นรัฐบาล และเร่งเจรจาสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทยเพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้า

● เปลี่ยนแสงแดดเป็นเงิน โดยปลดล็อกระบบขายไฟมิเตอร์หมุนกลับจากหลังคาบ้าน สนับสนุนให้ทุกบ้านติดโซลาร์เซลล์ได้ เชื่อว่าภายใน 4 ปี จะเห็นการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของประชาชนเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ

● เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ไม่ต้องผูกขาดกับ กฟผ. ยุติการประกันรายได้ให้เจ้าสัวพลังงาน ประชาชนสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเองได้ และกำหนดได้ว่า จะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานอะไร เช่น อาจเลือกซื้อจากพลังงานสะอาด 100% ได้

●เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจาก ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง และแก้ไขนโยบายเอื้อกลุ่มทุนพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้เพิ่ม

● เดินหน้าแผนผลิตกำลังไฟฟ้า (PDP) Net Zero โดยไม่เพิ่มโรงไฟฟ้าฟอสซิลอีก และตั้งเป้า ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายใน ปี 2580 เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดเป็นพลังงานสะอาดให้มากที่สุด