ไม่พบผลการค้นหา
"ชวลิต" แย้ง "วิษณุ" กก.สรรหา ส.ว. ผลัดกันเกาหลัง ไม่เป็นกลางชัดเจน ขัด รธน.ม.269(1) และ ม.114 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ไม่มีกรรมการสรรหา ส.ว. คนใดเสนอชื่อตัวเองเป็น ส.ว. แค่เสนอชื่อกันเองเท่านั้น โดยนายชวลิต กล่าวว่า นี่เป็นคำสารภาพของนายวิษณุ เอง ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา นับเป็นการสารภาพที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กรรมการสรรหาไม่มีความเป็นกลาง ขัด รธน.มาตรา 269(1) อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ กล่าวคือ      

1. คำกล่าวที่ว่า แค่เสนอชื่อกันเองนั้น นั่นแหละ คือ ความไม่เป็นกลางอย่างชัดเจนที่สุด เพียงถามนักศึกษาปี 1 คณะ���ิติศาสตร์ ไม่ว่าสถาบันใด ไม่ต้องถึงขั้นเป็นศาสตราจารย์ ก็จะได้คำตอบอย่างวิญญูชนทั่วไปว่า การผลัดกันเกาหลัง มีความ "ไม่เป็นกลาง"การเสนอชื่อกันเองในคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ด้วยกัน อย่างที่นายวิษณุ ฯ อธิบาย เข้าลักษณะผลัดกันเกาหลัง ได้ประโยชน์ทั้งคู่ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน        

ส่วนที่อ้างว่า ไม่มีใครเสนอชื่อตนเองเป็น ส.ว. นั้น ในทางปฏิบัติ ไม่มีใครเสนอชื่อตนเองอยู่แล้ว แค่กระซิบให้คนที่จะถูกเสนอชื่อ เดินออกไปเข้าห้องน้ำ แล้วผลัดกันเสนอชื่อ อย่างนี้ก็ได้หรือ แก้ตัวไม่ขึ้นครับ ถ้าประเทศนี้รับกันได้ ก็หาความอายไม่ได้ครับ ความเชื่อมั่นประเทศในระบบนิติธรรม ก็จะเหลือศูนย์ หาคนมาลงทุนยากครับ นอกจากนั้น ในการตีความทางกฎหมาย ผมยังมองไม่ออกว่าจะใช้อภินิหารทางกฎหมายออกช่องไหนว่า การสรรหา ส.ว.โดยผลัดกันเกาหลัง มีความเป็นกลาง อยากเห็นจริงๆ ว่าจะหาทางออกอย่างไร ถึงจะไม่ให้ลูกหลานก่นด่าบรรพบุรุษในภายหลังได้    

2. ผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แล้วกรรมการสรรหานั้น เลือกกันเองเป็น ส.ว. นอกจากไม่เป็นกลาง ขัด รธน.มาตรา 269(1) แล้ว ยังขัด รธน.มาตรา 114 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กล่าวคือ พล.อ.ประยุทธ์ฯ หัวหน้า คสช.เป็นผู้ออกคำสั่งที่ 1/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ต่อมากรรมการสรรหา ส.ว.เลือกกันเองเป็น ส.ว. 

เมื่อเป็น ส.ว.แล้ว ก็ไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ฯ ในอีกสถานะหนึ่งซึ่งเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายขัด รธน. มาตรา 114 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ นอกจากมีบทบัญญัติใน รธน.ของไทยแล้ว ในนานาอารยประเทศก็มีการบังคับใช้ที่เรียกว่า confiict of interest จึงเห็นได้ว่า การสรรหา ส.ว.ครั้งนี้ ทั้งในกรรมการสรรหา ส.ว.ด้วยกันเอง และการสรรหา ส.ว.โดยภาพรวม ขัด รธน.มาตรา 114 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อีกมาตราหนึ่ง นอกเหนือจากขัด รธน. มาตรา 269(1) ดังกล่าวข้างต้น

3. คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่ใช่เอกสารลับ ด้วยเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก ผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยส่งคำสั่ง คสช.ดังกล่าวให้ศาล รธน.วินิจฉัย ในประเด็นปัญหาความชอบด้วย รธน.มาตรา 81 วรรคสอง และมาตรา 269 (1)(ข) และ (ค) หรือไม่ ซึ่งศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัย ด้วยเหตุผลที่ว่า คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 ไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป ตามความหมายของ รธน.มาตรา 231(1) จึงเห็นได้ว่า เมื่อมีการตรวจสอบคำสั่ง คสช.ดังกล่าว ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาล รธน. คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 จึงไม่ใช่เอกสารลับแต่อย่างใด เพราะเปิดเผยในการพิจารณาของศาล รธน.        

ประการที่สอง คสช.เคยอ้างว่า ที่ยังไม่เปิดเผยคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เกรงจะไม่เป็นกลางเกรงว่าจะมีการวิ่งเต้น แต่สถานการณ์ปัจจุบัน มีการแต่งตั้ง ส.ว.เรียบร้อยแล้ว ไม่มีการวิ่งเต้นใด ๆ อีกที่จะอ้างได้ ตรงกันข้าม การไม่เปิดเผยคำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 เท่ากับตอกย้ำความไม่เป็นกลางของ คสช.เสียเอง ส่อพิรุธว่าไม่มีความเป็นกลาง จึงไม่กล้าเปิดเผยอนึ่ง มี ส.ว.ท่านหนึ่งให้เหตุผลว่า ส.ว.ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งแล้ว มีการกล่าวปฏืญาณตนในที่ประชุมวุฒิสภาก่อนการปฏิบัติหน้าที่แล้ว นั้น      

ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรมากที่สุด ความจริง ส.ว.ท่านนั้นก็จบกฎหมาย รู้ขั้นตอน ระเบียบประเพณีทางกฎหมายดีว่า ในการลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายใด จะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และถือเป็นหน้าที่ของผู้รับสนองพระบมราชโองการที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หากพระบรมราชโองการนั้น มีข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจากความบกพร่อง ไม่ละเอียด รอบคอบในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงของผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็พอที่จะอภัยในความบกพร่องได้แต่ถ้าเป็นความจงใจในการกระทำความผิด แล้วโยนภาระนั้นว่าเป็นพระบรมราชวินิจฉัยแล้วนั้นก็ไม่สมควรได้รับการอภัยแต่อย่างใดเลย       

"ในทางการเมือง ผมจะตามประเด็นนี้เป็นประเด็นหนึ่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาฯ ในข้อกฎหมาย ฝ่ายกฎหมายของ พท.กำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่จะดำเนินการตรวจสอบตามช่องทาง รธน.และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมให้กับสังคมต่อไป" นายชวลิต กล่าว