ไม่พบผลการค้นหา
'สมพงษ์ อมรวิวัฒน์' นั่งแม่ทัพเพื่อไทย 'อนุดิษฐ์' ขึ้นเลขาธิการพรรค 'หมอชลน่าน' รองหัวหน้าพรรค

สมาชิกพรรคเพื่อไทย มีมติ 389 เสียง โหวต นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.เชียงใหม่ ขึ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรค เท่ากับว่านายสมพงษ์จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ขณะที่รองหัวหน้าพรรค ประกอบไปด้วย นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายไพจิต ศรีวรขาน นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นายวิทยา บุรณศิริ นายสามารถ แก้วมีชัย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ นายชลน่าน ศรีแก้ว นายชวลิต วิชยสุทธิ์ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ นายประเสริฐ จัรทรรวงทอง นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร นายนคร มาฉิม พล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค เสียงส่วนมากโหวตให้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

รองเลขาธิการพรรคประกอบไปด้วย นางสาวละออง ติยะไพรัช นายจตุพร เจริญเชื้อ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ นายศราวุธ เพชรพนมพร นายสุรชาติ เทียนทอง นางสาวขัตติยา สวัสดิผล นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ เหรัญญิกพรรค นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนสมาชิกพรรค นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค นายประพนธ์ เนตรรังสี กรรมการบริหารพรรค นายณรงค์ รุ่งธนวงศ์ กรรมการบริหารพรรค

อนุดิษฐ์.jpg

นายสมพงษ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุด แต่ด้วยกติกาที่แตกต่างไปจากความเป็นจริง ทำให้การตั้งรัฐบาลเพิ่งจะแต่งตั้งได้ก็เข้าเดือนที่สาม ดังนั้นคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องฟันฝ่าการเมืองให้ไปในทางที่ถูกที่ควร พรรคเพื่อไทยมีกรรมการบริหารพรรคมี 29 คนและไม่มีสตั๊นแมนที่เข้ามานั่งในตำแหน่งแต่ไม่ทำงาน เพราะทุกคนตั้งใจทำงาน การอภิปรายจะเจาะลึกไปที่ข้อผิดพลาดของรัฐบาลที่จะนำความเสียหายไปสู่ประชาชน บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถนอกจากจะเป็นกรรมการบริหารพรรคแล้ว ยังมีคณะทำงานอีกหลายคณะ เช่น คณะที่ปรึกษาพรรค โดย นายเสนาะ เทียนทอง เป็นประธาน, คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธาน เป็นต้น

หลังจากนี้การทำงานในสภา ที่รัฐบาลมีเสียงต่างจากฝ่ายค้านไม่มาก รัฐบาลต้องตั้งใจทำงานให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยตรง เริ่มจากการแถลงนโยบาย ฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคก็เตรียมที่จะตรวจสอบนโยบายต่างๆ และการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะเข้าที่ประชุมสภาประมาณเดือนกันยายนนี้ต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยกันตรวจสอบว่างบประมาณไหนควรหรือไม่ควร และสิ้นปีคือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในฐานะพรรคเพื่อไทย ตนยืนยันว่าทุกคนจะไม่ละทิ้งหน้าที่ ตามสโลแกนของพรรคว่า ‘พรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน’

หลังจากนั้น นายสมพงษ์ เป็นตัวแทนพรรคมอบดอกไม้ให้กับ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีตหัวหน้าพรรคและนายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรค เพื่อเป็นการให้กำลังใจ โดยมีเสียงปรบมือจากองค์ประชุมอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ได้อ่านกลอนที่แต่งร่วมกับนายอดิศร เพียงเกษ เนื้อหาว่า “ภูมิใจมีภูมิธรรม วิโรจน์นำสว่างไสว เพื่อประเทศ ประชาธิปไตย นำเพื่อไทย สู่ใจคน”

จากนั้นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย มอบภาพวาดให้กับ พล.ต.ท.วิโรจน์ และนายภูมิธรรม ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ เลขาธิการพรรค กล่าวขอบคุณองค์ประชุม และจากนี้สิ่งที่ตนต้องรับผิดชอบคือการทำงานเพื่อประชาชนและเพื่อสมาชิกพรรค อย่างที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเลือกตั้งทุกครั้งก็ชนะทุกครั้ง สืบเนื่องมาจากมรดกของผู้บริหารพรรคในยุคต่างๆ ยินดีรับใช้พี่ทุกคนและคอยให้คำปรึกษากับน้องทุกคนในพรรค ตนเป็น ส.ส. เขตชานเมือง จึงเข้าใจการทำงานของ ส.ส. ทุกคนเป็นอย่างดี และขอโอกาสให้ได้ทำงานเป็นตัวเชื่อมพี่น้องในพรรคกับส่วนกลาง 

เสนาะซัดเผด็จการทำป่วน

นายเสนาะ ประธานที่ปรึกษาพรรค กล่าวว่า ไม่ใครคาดคิดว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ทั้งที่มีเสียงมากที่สุด ไม่ใช่ว่าเราไร้ความสามารถ แต่มีนักกฎหมายท่านหนึ่ง มีจิตใจต่ำช้าสามานย์ ไปออกกฎหมายตามคำสั่งของโจรห้าร้อยที่ปล้นเอาอำนาจอธิปไตยกับปวงชนชาวไทย และทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นเผด็จการ และนักกฎหมายผู้นี้ไปเขียนอะไรที่ทำให้คนวุ่นวาย ก็ชั่วระดับหนึ่งแล้ว แถมยังทำให้บ้านเมืองย่อยยับ ตนทำการเมืองมา 43 ปี แต่ไม่เคยเห็นใครใจไม้ไส้ระกำขนาดนี้ อย่างไรก็ตามก็ขอบคุณคณะกรรมการบริหารใหม่ และคุณหญิงสุดารัตน์

ตนยังมีหัวใจเปี่ยมล้นและความรู้สึกที่ต้องทำงานการเมืองอยู่กับลูกหลายอีกต่อไป เพราะถ้าเลิกก็เท่ากับปฏิเสธความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ตราบใดที่ยังมีลมหายใจจะยังไม่ยอมเลิก และถ้าตราบใดที่พรรคเพื่อไทยยังมีจิตใจที่แน่วแน่และรักสามัคคีต่อกัน อย่างไรก็จะไม่มีสัตว์เลื้อยคลานในพรรคเด็ดขาด คุณหญิงสุดารัตน์ เป็นกำลังสำคัญที่จะพาพรรคเพื่อไทยไปข้างหน้า และเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งทุกครั้ง 

เพื่อไทย สมพงษ์ อนุดิษฐ์ สุดารัตน์

บ้านเมืองแย่สุดใน 21 ปี

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยคือแหล่งรวมของนักสู้เพื่อประชาธิปไตย นักบริหารมืออาชีพ และนักคิดนโยบายเชิงนวัตกรรม และเมื่อพรรคได้บริหารประเทศก็ทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ดีทุกครั้ง เพราะรู้จักการปรับตัว แต่ครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่หนักหน่วงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาในรอบ 21 ปี มีถึง 3 ความท้าทายคือ 1.การเมือง รัฐธรรมนูญและกติกาที่บิดเบี้ยว รวมถึงการใช้อำนาจองค์กรอิสระที่ไม่เป็นธรรม 2.เศรษฐกิจตกต่ำ จากการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของ คสช. 3.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ถ้าไทยไม่ปรับตัวจะตกยุคทันที ภายใต้พันธกิจ 3 ประการคือ

1.ปรับกระบวนทัศน์ 2.จัดกระบวนคน 3.สร้างกลไกยุติความขัดแย้งในบ้านเมือง เปลี่ยนจากรัฐราชการเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อไทยยุคใหม่ จะเข้าสู่ยุค ‘ประชาชนคิดและเพื่อไทยทำ’ จะเปิดชั้นล่างของที่ทำการพรรคเป็น Co-working Space อบรมความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ พรรคจะไม่นับว่าใครสอบได้หรือสอบตก แต่จะรวมเป็นทีมของพรรคเพื่อไทย ทั้งยังมีคนทำงานถึง 3 รุ่น รุ่นใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญ รุ่นกลางที่เป็นมืออาชีพ และรุ่นใหม่ที่มีพลังเต็มเปี่ยม และจะทำงานทันทีโดยไม่รออำนาจรัฐ เพื่อคืนความอยู่ดีกินดีและความสงบสุขให้กับคนไทยและประเทศไทย คืนประชาธิปไตยอันม��พระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง และคืนศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้ทัดเทียมกับโลก และตนเชื่อว่าพลังของทีมเพื่อไทยทุกคนจะนำความหวัง ความสุข และเงินในประเป๋ากับคืนมาให้กับประชาชน และไม่หวั่นไหวกับอิทธิพลเถื่อน

170862.jpg


สำหรับประวัติการทำงานที่ผ่านมาของนายสมพงษ์ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญดังนี้

พ.ศ. 2524 - 2525 กรรมการบริหารพรรคชาติประชาธิปไตย

พ.ศ. 2526 - 2527 รองเลขาธิการพรรคชาติประชาธิปไตย

พ.ศ. 2527 - 2529 เลขาธิการพรรคชาติประชาธิปไตย

พ.ศ. 2529 - 2531 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี

พ.ศ. 2529 - 2531 เลขาธิการพรรคชาติประชาธิปไตย

พ.ศ. 2529 - 2531 กรรมาธิการร่างกฎหมายงบประมาณปี พ.ศ. 2530

พ.ศ. 2531 - 2532 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. 2531 - 2532 เลขาธิการพรรคชาติประชาธิปไตย

พ.ศ. 2531 - 2532 รองประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมแห่งชาติ

พ.ศ. 2531 - 2532 รองหัวหน้าพรรคเอกภาพ

พ.ศ. 2533 - 2534 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พ.ศ. 2534 - 2535 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พ.ศ. 2535 - 2536 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

พ.ศ. 2535 - 2536 รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา

พ.ศ. 2535 - 2536 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ (เขต 2)

พ.ศ. 2535 - 2536 ประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

พ.ศ. 2537 - 2538 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ (เขต 3)

พ.ศ. 2537 - 2538 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

พ.ศ. 2539 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ (เขต 3)

พ.ศ. 2539 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

พ.ศ. 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2543 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ (เขต 3)

พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2548 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2549 ผู้แทนการค้าไทย Special Envoy of the Prime Minister

พ.ศ. 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พ.ศ. 2551 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


อ่านเพิ่มเติม