นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การวิ่งเป็นหนึ่ง ในรูปแบบการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งนักวิ่งจำเป็นต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนแข่ง ผ่านการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ร่างกายมีการปรับตัวให้พร้อมกับกิจกรรมทางกายที่มีระยะเวลานาน หากร่างกายไม่พร้อมจะทำให้เกิด ผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจ รวมทั้งระบบกล้ามเนื้อ โดยจะมีอาการหน้ามืด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงหมดสติและหัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและกำลังจะเริ่มหัดวิ่งควรตรวจเช็คสุขภาพร่างกายก่อนวิ่งเพื่อหาภาวะเสี่ยงที่อาจส่งผลขณะวิ่งได้ โดยในการวิ่งแต่ละครั้ง นักวิ่งควรมีการอบอุ่นร่างกายเพื่อให้เลือดสูบฉีดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และก่อนหยุดออกกำลังกายให้ชะลอความเร็วโดยการคลายอุ่น (cool down) ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกครั้ง เพื่อลดอาการปวดเมื่อยและบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAFF) ได้จัดทำมาตรฐานการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน โดยเน้นที่การออกแบบการแข่งขัน ทั้งการวางเส้นทาง ความปลอดภัย จัดให้มีน้ำดื่มและอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้เข้าร่วม การแข่งขัน สำหรับการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนนั้นจะต้องมีหน่วยแพทย์ รถพยาบาล ประจำตลอดการแข่งขัน รวมถึงจุดพยาบาลตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะช่วงกลางและปลายของการวิ่ง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่าอาจมีผู้บาดเจ็บ เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทีมแพทย์ฉุกเฉินจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือและปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที เช่น การปั๊มหัวใจด้วยวิธีซีพีอาร์ (CPR) เป็นต้น โดยกำหนดให้มีหน่วยแพทย์ในการแข่งเพื่อให้ได้มาตรฐานการจัดกิจกรรม
“ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสมาคมวิ่งเพื่อสุขภาพ ได้เห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานการวิ่งขึ้นใหม่และประกาศใช้แล้ว โดยเงื่อนไขใหม่ ผู้ขอจัดกิจกรรมวิ่งจะต้องมีหน่วยปฐมพยาบาลเคลื่อนที่ รถพยาบาล รถฉุกเฉิน ตลอดจนการดูแลอาหารและน้ำดื่มให้เพียงพอ และสำหรับในส่วนของนักวิ่งขอให้ปฏิบัติดังนี้ 1. เตรียมตัวก่อนถึง วันวิ่ง ด้วยการออกกำลังกาย หรือซ้อมมาก่อน 2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อให้ร่างกายพร้อม เนื่องการจัดวิ่งมาราธอนส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้า ไม่กินอาหารมื้อดึก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มน้ำให้เพียงพอ และ 3. สังเกตร่างกายตนเองว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น ความเหนื่อย ความอ่อนล้า หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น หากไม่มั่นใจให้รีบขอความช่วยเหลือยังจุดปฐมพยาบาลทันที” นพ.สุวรรณชัย