ไม่พบผลการค้นหา
ช่วงที่ผ่านมา กระแสตื่นตัวซื้อ 'ประกันโควิด' รุนแรงมาก ตัวเลขจากสมาคมวินาศภัยไทยคาดว่ามีสูงถึง 2 ล้านกรมธรรม์ในเวลาไม่ถึง 1 เดือน ยิ่งในเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น ความประหวั่นถึงอนาคตยิ่งเพิ่ม ประกอบกับคำโฆษณาประเภท 'เจอ จ่าย จบ' กระตุ้นการขาย แต่จะเลือกอย่างไรให้คุ้ม 'วอยซ์ออนไลน์' มีคำแนะนำ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส 'โควิด-19' ทำให้เกิดปรากฏการณ์แห่ซื้อประกันคุ้มครองโควิด-19 ล้นหลาม ทุบสถิติจำนวนกรมธรรม์ขายดีอย่างรวดเร็ว โดย 'สมาคมประกันวินาศภัยไทย' คาดว่าน่าจะแตะ 2 ล้านกรมธรรม์แล้วในขณะนี้ สะท้อนถึงความต้องการของคนไทยที่ตื่นตัวกับการป้องกันโรคนี้ได้อย่างดี

แต่ก่อนจะซื้อประกันควรทำความเข้าใจถึงความจำเป็น รายละเอียดของกรมธรรม์ เพื่อซื้ออย่างมีสติ และซื้อแบบที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง ซื้อตามความจำเป็น


เริ่มจาก คนมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว ต้องซื้อประกันโควิด-19 หรือไม่?

อันดับแรกต้องดูว่า ความคุ้มครองสุขภาพที่มีอยู่นั้นคุ้มครองอะไรบ้าง ทั้งจากประกันสุขภาพที่ซื้อเอง และประกันสุขภาพที่เป็นสวัสดิการประกันกลุ่มของบริษัท หากมีคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคภัย ก็ได้รับความคุ้มครองจากโรคนี้ เพราะโควิด-19 ถือเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคภัย ยกเว้นแต่ว่าในกรมธรรม์จะมีข้อยกเว้นการเจ็บป่วยด้วยโรคระบาดร้ายแรง ตรงนี้ต้องดูเงื่อนไขความคุ้มครองให้ดี และต้องดูที่วงเงินคุ้มครองที่มีว่าจะเพียงพอต่อความเจ็บป่วยหรือไม่ หากมองว่าไม่พอก็สามารถซื้อประกันโควิด-19 เพิ่มได้ ถือเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ส่วนคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องซื้อไว้ในยามที่เกิดโรคระบาดเช่นนี้


ควรซื้อประกันโควิด-19 อย่างไร?

ต้องดูว่าอยากได้ความคุ้มครองแบบไหน ซึ่งแบบประกันที่ออกมาขายมีความคุ้มครองหลากหลาย ได้แก่

  • ความคุ้มครองกรณีตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือเรียกง่ายๆ ว่า เจอ จ่าย จบ
  • ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการติดเชื้อ
  • คุ้มครองการเจ็บป่วยขั้นโคม่าและเสียชีวิต แ
  • การชดเชยรายได้กรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และบางกรมธรรม์มีการแถมความคุ้มครองการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากอุบัติเหตุทุกชนิดด้วย

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีบริษัทประกันภัยที่ออกสินค้ามาขาย อาทิ บมจ.ทิพยประกันภัย บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.วิริยะประกันภัย บมจ.เมืองไทยประกันภัย บมจ.สินมั่นคงประกันภัย บมจ.เทเวศประกันภัย เป็นต้น (ตามตารางบริษัทที่ขาย)

คปภ ประกันโควิด

ถามว่าควรจะซื้อประกันโควิด-19 หลายกรมธรรม์หรือไม่?

หากเป็นแบบที่จ่ายเงินก้อน อย่าง เจอ จ่าย จบ และค่าชดเชยรายวัน สามารถเรียกร้องค่าสินไหมตามวงเงินได้ทั้งหมด ถ้าผู้บริโภคมองว่าวงเงินที่ซื้อไว้อาจจะไม่ครอบคลุมการรักษาหากเจ็บป่วย ก็อาจจะซื้อหลายกรมธรรม์ได้

ส่วนแบบคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล สามารถเรียกร้องค่าสินไหมตามที่จ่ายจริง หรือตามใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น และไม่สามารถเบิกค่ารักษาซ้ำซ้อนได้ แต่แบบนี้วงเงินกรณีเสียชีวิตจะสูง ดังนั้นควรต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ


ซื้อแล้วประกันคุ้มครองแน่ แต่อย่าทุจริต

อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่ความคุ้มครองแบบ เจอ จ่าย จบ สามารถที่จะเรียกร้องสินไหมได้ทั้งก้อน และการระบาดรุนแรงมากขึ้น จึงมีโอกาสบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูง เพราะความถี่คนที่ติดเชื้อเพิ่ม ทำให้หลายบริษัทอาจหยุดการขายกรมธรรม์แบบนี้ เพราะการออกกรมธรรม์ บริษัทจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงสะสมที่ได้รับประกันภัยไว้ และบริษัทมีสัญญาประกันภัยต่อรองรับขนาดไหน บริษัทมีสถานะเงินกองทุนที่มั่นคงเพียงใด ซึ่งถ้าเป็นบริษัทใหญ่ก็สามารถรับประกันภัยได้มาก บริษัทเล็กก็รับได้น้อย

ส่วนนี้จึงเป็นข้อจำกัดของแต่ละบริษัท จะเห็นว่าบางบริษัทขายเต็มจำนวน เต็มขีดความสามารถในการรับแล้วก็ต้องหยุดการขาย เพราะไม่มีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับได้ แต่ผู้ที่ซื้อประกันแบบเจอ จ่าย จบ ไว้ก่อนที่บริษัทนั้นๆ จะหยุดการขายอย่ากังวลใจไป ถึงยังไงก็ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์แน่นอน

ส่วนกรณีมีกลุ่มคนซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ เป็นจำนวนหลายกรมธรรม์เกือบทุกบริษัท และมีบางคนประกาศว่าจะยอมเสี่ยงให้ตนเองติดเชื้อเพื่อจะได้เงินค่าสินไหมทดแทน ทั้งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกับธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ต่างยืนยันว่า เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หากพิสูจน์ได้ว่าใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำประกันภัยและจงใจให้ตัวเองติดเชื้อ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและจะไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน 

ร้านธงฟ้าประชารัฐ-ธงฟ้าประชารัฐ-บัตรคนจน-อีดีซี
รัฐเตรียมซื้อประกันแจกผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ก็มีสิทธิเข้าถึงความคุ้มครองประกันภัยโควิด-19 เช่นกัน โดย คปภ. เสนอแผนการจัดทำประกันภัยโควิด-19 สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน ให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรียบร้อยแล้วตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการดูแลสุขภาพและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ใช้งบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ประกันโควิดสำหรับกลุ่มนี้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ต้องจ่ายเลย คิดค่าเบี้ยคนละ 99 บาท ระยะเวลาประกัน 1 ปี ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ด้วยภาวะโคม่าหรือโรคร้ายแรงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโควิดได้รับความคุ้มครองคนละ 100,000 บาท อีกทั้งยังได้ค่าชดเชยรายวันระหว่างการรักษาตัวอีกวันละ 300 บาท สูงสุดนาน 30 วัน รวมไม่เกิน 9,000 บาท

ประกันภัย Taxi
  • สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.
ค่ายประกันออกมาตรการช่วยลูกค้า

นอกจากนี้ คปภ.ยังได้หารือกับบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ออกมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าผู้เอาประกันในช่วงโควิด-19 ระบาด ดังนี้

กรณีบริษัทประกันชีวิต

  • ผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยในกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยระหว่างวันที่ 27 ก.พ. -30 มิ.ย. 2563 โดยขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันเดิม
  • ยกเว้นดอกเบี้ยกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตสิ้นผลบังคับ ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.- 30 มิ.ย. 2563 หากผู้เอาประกันภัยขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ประกันชีวิต ภายใน 6 เดือน 
  • ผ่อนผันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ หรือมีการกู้ยืมเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ระหว่างวันที่ 27 ก.พ. -30 มิ.ย. 2563 บริษัทอาจยกเว้นหรือปรับลดดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
  • อนุญาตให้มีการผ่อนผันให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยในแต่ละงวด โดยไม่คิดดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ในกรณีผู้เอาประกันภัยมีการเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันภัยใดๆ ก็ตาม หรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยรายงวดที่น้อยกว่า 1 ปี โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันภัย ในระหว่างวันที่ 27 ก.พ.- 30 มิ.ย. 2563
  • ขอความร่วมมือบริษัทประกันชีวิตให้ผ่อนคลายการกำหนดจำนวนเงินกู้ยืมตามกรมธรรม์ โดยให้มีการปรับเพิ่มเพดานขั้นสูงของจำนวนเงินกู้ยืมตามกรมธรรม์
  • ให้บริษัทประกันชีวิตสามารถลดอัตราเบี้ยประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตและสัญญาเพิ่มเติมที่ให้ความคุ้มครองสุขภาพ ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเบี้ยประกันภัย กรณีทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.- 30 มิ.ย. 2563 และวันเริ่มต้นคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยต้องไม่เกินวันที่ 31 ส.ค. 2563

กรณีบริษัทประกันวินาศภัย

  • ผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันสุขภาพ หรือกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองเดียวกัน ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.- 30 มิ.ย. 2563 โดยให้ขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันครบระยะเวลาผ่อนผันเดิม
  • ผ่อนผันเงื่อนไขการชำระเบี้ยประกันภัย โดยให้ผู้เอาประกันภัยสามารถชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายงวดได้ สำหรับการประกันภัยอัคคีภัย และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ที่มีการทำสัญญาหรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยตามสัญญาในระหว่างวันที่ 27 ก.พ.- 30 มิ.ย. 2563
  • ให้บริษัทประกันวินาศภัยอาจเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดความคุ้มครองของการประกันภัยการเดินทางได้ ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีกำหนดเดินทาง ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.- 30 มิ.ย. 2563 และมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนการเดินทาง ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้บริษัททราบก่อนวันเริ่มต้นความคุ้มครองเดิม
  • ออกคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถลดอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยโดยตรงกับบริษัทได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเบี้ยประกันภัย (สำหรับการประกันภัยอัคคีภัย และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ที่กำหนดไว้ในรายงานสถิติธุรกิจประกันวินาศภัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) โดยต้องเป็นการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.- 30 มิ.ย. 2563 และวันเริ่มต้นคุ้มครองตามกรมธรรม์ฯ ต้องไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 2563


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: