นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีสัญญาณเตือนหรืออาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน จึงมักจะถูกเรียกว่าเป็น "เพชฌฆาตเงียบ" ผู้ป่วยจำนวนมากเป็นโรคนี้โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย และหัวใจล้มเหลว ภาวะไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่มีโรคแทรกซ้อนแล้ว เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย เหนื่อย นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดปกติ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น กรรมพันธุ์ อายุเพิ่มขึ้น มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคความดันโลหิตสูง 2.ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การรับประทานอาหารรสเค็มจัด ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย อ้วนหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น เครียดเรื้อรัง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ดังนั้น หากพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
ด้านนายแพทย์สุกรม ชีเจริญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลกและสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี เป็น "วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day )" จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะรณรงค์ให้คนไทยเกิดความตระหนักในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ โดยการลดอาหารเค็มจัด หลีกเลี่ยงการรับประทานผงชูรสหรือผงปรุงรส ขนมขบเคี้ยว ของหมักเกลือ หมักดอง อาหารกระป๋อง เพิ่มการรับประทานผัก โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน เช่น กระเทียม คื่นช่าย ผักใบเขียว เพิ่มการรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง มะละกอ แอปเปิ้ล สาลี่
และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน งดการสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผ่อนคลายความเครียดความวิตกกังวล ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่รู้สึกผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง รดน้ำต้นไม้ อ่านหนังสือ ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ตรวจวัดค่าระดับความดันโลหิตเป็นประจำ และรับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามหากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป