วันที่ 6 พ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นต่อประธาน กกต. ให้สอบ 2 รัฐมนตรีในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ประกอบด้วย ‘สุทิน คลังแสง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ‘ไชยา พรหมา’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเหตุทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ ม.170 ประกอบ ม.187
เรืองไกร กล่าวว่า กรณีของ ไชยา นั้นพบข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ แต่ในวันที่ 16 ก.ย. อัญชลี พรหมา (ภรรยา) ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ กลับแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุญเรืองวัฒนา ได้รับชำระเงินลงหุ้น เป็นเงิน 300,000 บาท จาก อธิษฐาน พรหมา (บุตรสาว) เพื่อชำระเป็นเงินลงหุ้นจากการเพิ่มทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุญเรืองวัฒนา โดยชำระเป็นเงินสดลงหุ้น 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) ไว้เรียบร้อยแล้ว
กรณีดังกล่าว จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 16 ก.ย. อัญชลี (ภรรยา) ยังคงเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุญเรืองวัฒนา และยังเป็นหุ้นส่วนอยู่ ตามที่ ไชยา แจ้งไว้ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ กรณีเข้ารับตำแหน่ง สส. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ว่ามีเงินลงทุนใน หจก.ศรีบุญเรืองวัฒนา ในนามคู่สมรส
ซึ่ง หาก อัญชลี ยังคงเป็นหุ้นส่วน และผู้จัดการอยู่ จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ ไชยา สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ ม.170 วรรค 1 (5) ประกอบ ม.187 หรือไม่
ส่วนกรณีของ สุทิน พบข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. สุทิน ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 3 พ.ย. ที่ระบุว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด คลังแสงอีสาน มีหุ้นส่วนรวมเป็นมูลค่า 1,200,000 บาท โดยมี ฉวีวรรณ คลังแสง (ภรรยา) เป็นหุ้นส่วนอยู่ 1,000,000 บาท และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วย
ดังนั้น จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบโดยเร็วว่า ณ วันที่ 3 พ.ย. สุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด คลังแสงอีสาณ จำนวน 1,000,000 บาท ในนามคู่สมรส ซึ่งคิดได้เกินร้อยละห้า หรือไม่ และคู่สมรสยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ หรือไม่ หากยังคงไว้ จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ สุทิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ ม.170 วรรค 1 (5) ประกอบ ม.187 หรือไม่
เรืองไกร กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ ม.187 มีเงื่อนไขยกเว้นไว้ด้วย จึงขอให้ กกต. นำพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาประกอบการพิจารณาด้วย หาก กกต. เห็นว่า ทั้งสองรัฐมนตรี มีเหตุเข้าข่ายจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ขอให้รีบส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป และขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนด้วย