หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง 2566 การแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยต่อมา สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กกต. ได้นำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดด้วย
โดยตัวเลขที่ กกต. ใช้คำนวณการแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัดในการเลือกตั้งปี 2566 พบว่า นำมาจากข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวนประชากร 66,090,475 คน ในจำนวนนี้ กกต. ได้นำจำนวนผู้ไม่มีสัญชาติไทย 801,073 มารวมกับการคำนวณจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัด
ขณะที่ มาตรา 95 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และหากเราไปดูนิยามตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะพบว่า ‘ราษฎร’ หมายถึง ผู้ที่เป็นคนของประเทศ ถือสัญชาติเดียวกัน อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน มีสิทธิตามกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเหมือนกันทุกคน เมื่อพิจารณาตามความหมายดังกล่าว จำนวนราษฎรที่ใช้คำนวณจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดจึงจะต้องใช้ราษฎรที่เป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น
ประเด็นนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “โดยหลักการแล้วคนต่างด้าวไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่นำมานับเพื่อคำนวณเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง อย่าว่าแต่ต่างด้าวเลย คนไทยที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็ต้องคิดอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้ไง กรุงเทพฯ จาก 36 เขต จึงลดเหลือ 33 เขต เพราะนับไปนับมามีต่างด้าวจึงต้องนำออก”
ด้าน ปกรณ์ มหรรณพ หนึ่งใน กกต. ได้ออกมาชี้แจงว่า นิยาม ‘จำนวนราษฎร’ ไม่ใช่จำนวนผู้มีสิทธิการเลือกตั้ง และไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยตั้งแต่ปี 2558 ทางสำนักทะเบียนกลางได้ประกาศจำนวนราษฎรโดยแยกเพศกำเนิดชายและหญิงของผู้ที่มีสัญชาติไทยและผู้ที่ไม่ได้สัญชาติไทย และหลังจากนั้นมีการปฏิบัติในลักษณะนี้เรื่อยมา กระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วปี 2562 และยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ทำมาตลอด
การให้เหตุผลของ กกต. ในทัศนะของ ณัชปกร นามเมือง หัวหน้าฝ่ายปฏิรูปโครงสร้างทางกฎหมายและการเมือง iLaw มองว่า
“ปัจจุบันกรมการปกครองได้ใช้เกณฑ์แยกจำนวนผู้มีสัญชาติไทยและผู้ไม่มีสัญชาติไทยออกจากกันแล้ว อีกทั้ง กกต. ก็ไม่ได้ชี้แจงด้วยหลักเหตุและผลว่า ทำไมเราถึงต้องนับคนกลุ่มนี้เข้ามา เขาแค่บอกว่า เคยทำมาแล้ว แล้วก็ทำตามๆ กันมา ซึ่งมันฟังไม่ขึ้นครับ”
Voice รวบรวมข้อสังเกตของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตั้งคำถามว่า การนับจำนวนคนไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาในการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบเบ่งเขต มีนัยยะสำคัญทางการเมืองหรือไม่ และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน มีความไม่ชอบมาพากลมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร
Rocket Media Lab ได้ลองคำนวณ จำนวน ส.ส. แบบเเบ่งเขต ผ่าน 2 รูปคือ หนึ่ง-นับรวมจำนวนผู้ไม่มีสัญชาติไทย และ สอง-นับเฉพาะจำนวนผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น เพื่อหาคำตอบว่า ทั้งสองรูปแบบข้างต้นให้จะผลลัพธ์เช่นใด และมีนัยยะทางการเมืองอย่างไร จากข้อมูลพบว่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการคำนวณของ กกต. ที่ใช้จำนวนราษฎรทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณ จะมีจำนวน ส.ส. 6 จังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คำนวณในรูปแบบของ กกต. (รวมจำนวนคนไร้สัญชาติ) จะทำให้มีจำนวน ส.ส. มากขึ้นกว่าการคำนวณเฉพาะราษฎรที่มีสัญชาติไทย ดังนี้
กลุ่มที่ 2 คำนวณในรูปแบบของ กกต. (รวมจำนวนคนไร้สัญชาติ) จะทำให้มีจำนวน ส.ส. น้อยลงกว่าการคำนวณเฉพาะราษฎรที่มีสัญชาติไทย ดังนี้
เมื่อพิจารณาจากข้อมูล จะพบว่า มี 3 จังหวัดที่จะได้จำนวน ส.ส. เขต เพิ่มขึ้นคือ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก และอีก 3 จังหวัด ได้ จำนวน ส.ส. เขตลดลง คือ อุดรธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี
อาจกล่าวได้ว่า ผลลัพธ์นี้จะนำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองอย่างแน่นอนใน 6 จังหวัดข้างต้น ดังเช่นข้อสรุปหนึ่งจาก Ilaw ระบุว่า ในเขตที่คะแนนเสียงสูสีเป็นทุนเดิม เช่นจังหวัดปัตตานีที่มีการคำนวณของ กกต. จะทำให้มี ส.ส. น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นหนึ่งคน ในการเลือกตั้ง 2562 เขต 2 ผู้ชนะ อับดุลบาซิม ได้คะแนนมากกว่าอันดับสองเพียงประมาณ 400 คะแนนเท่านั้น หมายความว่าในการเลือกตั้ง 2566 ตัวเลขที่นั่ง ส.ส. ที่ กกต. คำนวณมาอาจจะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงในเขต 2 มากขึ้น และอาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งและฐานเสียงของผู้สมัคร
“เราคิดว่า กกต. ยังมีเวลาในการตัดสินใจนะ มันยังอยู่ในช่วงรับฟังการคิดเห็น ซึ่งคุณโดนทั้ง สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และโดนทั้งวิษณุ เครืองาม ปรมาจารย์ด้านกฎหมายออกมาทักท้วงแล้ว คุณก็แค่ออกประกาศใหม่ว่า จะใช้เฉพาะจำนวนประชากรที่มีสัญชาติไทย ก็จบแล้ว ไม่ต้องไปถึงศาลเลย เราไม่เข้าใจความดื้อเเพ่งของ กกต. ว่าต้องการจะพิสูจน์อะไรหรอ” ณัชปกร นามเมือง กล่าว
การเลือกตั้งในปี 2566 ใช้รูปแบบบัตร 2 ใบ โดยแบ่งเป็น ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลโดยทั่วไปต้องใช้ ส.ส. 250 คน รวมกับเสียงของ ส.ว. นั่นหมายความว่า ต้องได้เสียงในสภา 376 เสียง จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
การแบ่งเขตจึงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากเป็นการแบ่งเขตแบบเอาเปรียบและไม่เป็นธรรม (Gerrymandering หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบ) ก็จะส่งผลได้เสียต่ออนาคตทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้
เช่น พื้นที่หนึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง หากผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้พรรคนั้นชนะการเลือกตั้งก็อาจจะแทรกแซงให้ผ่าแบ่งอำเภอนั้นออกเป็น 2 เขต เพื่อให้คะแนนเสียงที่เป็นฐานของพรรคการเมืองนั้นกระจายตัวออกไปจนไม่สามารถรวมคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ได้ รวมถึงการแบ่งเขตนั้น มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
โดยหลักเกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง ระบุว่า ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้สะดวก
สมชัย ศรีสุทธิยากร ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ที่ กกต. เสนอมา 5 รูปแบบ เพื่อให้พรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดได้แสดงความคิดเห็น 7-16 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น สะท้อนความผิดปกติทั้งหมด และ กตต. ต้องรื้อทำใหม่ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง ดังนี้
ประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ที่ลงนามโดยประธาน กกต. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 31 มกราคม 2566 ข้อ 3(2) เขียนไว้ชัดเจนว่า ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละสิบ ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น
ขณะที่จำนวนเฉลี่ยราษฎร ของ กทม. คือ 166,513 คน ต่อ ส.ส. 1 คน ดังนั้น ร้อยละ 10 คือ 16,651 คน หมายความว่า การแบ่งเขตและจำนวนประชากรไม่ควรสูงหรือต่ำเกินกว่า ค่าเฉลี่ย +/- 16,651 คน ทว่าการแบ่งเขตของ กทม. ทั้ง 5 รูปแบบนั้น มีผลต่างของประชากรเกินกว่าที่หลักเกณฑ์กำหนดไปมาก ดังนี้
จากการทั้งท้วงของ สมชัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. เขตของ จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ปัตตานี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ทั้งสิ้น 66 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง เชียงใหม่ 11 เขตเลือกตั้ง ชลบุรี 10 เขตเลือกตั้ง สมุทรปราการ 8 เขตเลือกตั้ง และ ปัตตานี 4 เขตเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องจับตามอง เพื่อทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส่ที่สุด ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และไม่มีการใช้อำนาจพิเศษใดๆ เข้าแทรกแซงดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2562 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเห็นชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. แม้ กกต.จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว โดยให้ กกต. แบ่งเขตใหม่ได้กรณีที่ คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนมา
โดยก่อนหน้านั้น กกต.แต่ละจังหวัดได้ทำการรับฟังความคิดเห็นและประกาศออกมาเป็นสามรูปแบบ แต่ผลการประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่ามีจำนวน 11 จังหวัดที่มีรูปแบบเขตเลือกตั้งไม่ตรงตามรูปแบบที่ กกต.จังหวัด เคยเสนอไว้ คือ นครราชสีมา สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ นครปฐม เชียงราย สุโขทัย และชัยนาท โดยการแบ่งเขตดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย
อ้างอิง