แม้จะเกิดการประท้วงมาอย่างยาวนาน ในที่สุด เอลิซาเบธ บอร์น นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ได้บังคับใช้มาตรา 49:3 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา โดยการตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลฝรั่งเศส เกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีก่อนที่ ส.ส.จะมีกำหนดลงมติในร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่มั่นใจว่ากฎหมายของพวกเขาได้เสียงข้างมาก สร้างความไม่พอใจแก้พรรคฝ่ายค้าน โดย ส.ส.หลายคนโห่ใส่นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ในขณะที่บางคนร้องเพลงชาติ และชูป้ายประท้วงในรัฐสภา
มารีน เลอ แปง ผู้นำฝ่ายค้านขวาสุดโต่ง ได้เสนอแนะให้พรรคฝ่ายค้านฝรั่งเศสที่จะมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลของ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นอกจากนี้ มาธิลเด ปาท็อต หัวหน้าพรรคฝ่ายซ้าย ลาฟร็องส์แอ็งซูมิส (LFI) ทวีตข้อความว่า มาครงทำให้ประเทศจมดิ่งสู่วิกฤตรัฐบาล อีกทั้งปราศจากไปซึ่งความชอบธรรมของอำนาจรัฐสภาหรือประชาชน
ผู้คนหลายพันคนออกมาตามท้องถนนในกรุงปารีส และเมืองอื่นๆ ของฝรั่งเศส เพื่อปฏิเสธการออกคำสั่งเปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ พร้อมกันกับการร้องเพลงชาติ และโบกธงสหภาพแรงงาน ผู้ประท้วงบางคนเข้าปะทะกับตำรวจในตอนเย็น และก่อเพลิงบริเวณลานปลัสเดอลากงกอร์ด ทั้งนี้ ตำรวจพร้อมโล่และกระบองยิงแก๊สน้ำตา และเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณลานจัตุรัส โดยในช่วงค่ำ ตำรวจของกรุงปารีสระบุกับสำนักข่าว AFP ว่า มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 120 คน
อย่างไรก็ดี สหภาพแรงงานฝรั่งเศสยืนยันที่จะยังคงต่อต้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงเงินบำนาญ โดยกลุ่ม กงเฟเดราเซียง เจเนรัล ดู ทราวาย (CGT) กล่าวว่า พวกเขาจะมีการนัดหยุดงานและการประท้วงอีกครั้ง ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มี.ค. โดยถึงแม้ว่ามาครงจะได้รับเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว จากการเสนอนโยบายปฏิรูปการเกษียณอายุ แต่พรรคร่วมรัฐบาลของเขาไม่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา และพวกเขาต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคเลเรปูบลิเกียงส์ เพื่อผ่านการเปลี่ยนแปลงเงินบำนาญ
เจ้าหน้าที่จากพรรคเรอเนซองส์ของมาครงใช้เวลาช่วงเช้าอย่างสิ้นหวัง ในการชักชวนสมาชิกมารวมตัวกันเพื่อลงคะแนนการผ่านร่างกฎหมาย โดยทางพรรคทราบดีว่า ส.ส.ของพวกเขาบางคนสามารถลงคะแนนเสียงคัดค้านหรืองดออกเสียงต่อกฎหมายฉบับนี้ได้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมอย่างเห็นได้ชัดในหมู่แรงงาน ส่งผลให้รัฐบาลฝรั่งเศสหันไปใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญแทน
ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสเรียกใช้มาตรา 49:3 ตามรัฐธรรมนูญ ย่อมเกิดข้อวิจารณ์ว่าพวกเขาใช้อำนาจเหนือเจตจำนงของประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสมีการใช้มาตราดังกล่าวถึง 100 ครั้งในเวลากว่า 60 ปีของสาธารณรัฐที่ 5 ไม่ว่าจะด้วยรัฐบาลจากฝ่ายซ้ายหรือขวาก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัฐบาลที่ขาดเสียงข้างมากพอจะผ่านกฎหมายสำคัญในรัฐสภา
ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของมาครง เรียกร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า "โหดร้าย" "ไร้มนุษยธรรม" และ "ต่ำช้า" แม้ว่าในประเทศพื่อนบ้านยุโรปจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบำเหน็จบำนาญ ซึ่งไม่มีผลลัพธ์ที่รุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสในตอนนี้ ทั้งนี้ ขวัญกำลังใจในการทำงานของคนฝรั่งเศสตกต่ำลงเรื่อยๆ และผู้คนมองว่าการเกษียณอายุเป็นหนทางที่สดใสในอนาคต แต่ประชาชนหลายคนรู้สึกว่า รัฐบาลมาครงเป็นรัฐบาลของคนรวย ที่กำลังพรากการเกษียณอายุที่เร็วขึ้นของพวกเขาไป
ที่มา: