ไม่พบผลการค้นหา
สูตรสำเร็จ! จับเทรนด์ฮิตมาทำเพลง 'ให้เคอรี่มาส่งได้บ่' แจ้งเกิด ‘เบลล์ นิภาดา’ จากเด็กสาว จ.ขอนแก่น กลายเป็นนักร้องคิวทอง พร้อมคำยืนยันในคุณภาพเพลงและศิลปินจากกูรูวงการลูกทุ่ง-หมอลำ

สาว ม.ปลายวัย 16 ปี ‘เบลล์ นิภาดา’ แจ้งเกิดเป็นนักร้องเต็มตัวกับเพลง ‘ให้เคอรี่มาส่งได้บ่’ มียอดวิวแตะ 75 ล้านวิว การันตีความนิยม หลังจากปล่อยลงยูทูบได้เพียงแค่ 2 เดือน กับท่อนฮิตที่ติดหูผู้ฟังหลายคน

“เป็นตาฮักปานนี่ให้เคอรี่มาส่งได้บ่ สั่งซื้อไสหนอ ยี่ห้ออีหยัง เป็นตาซัง เอาฮ้าย ผู้สาวหลายหนูกะบ่หวั่น มาแลกเฟซไลน์กัน สิฟ้าทำคะแนน”

เส้นทางของสาววัยทีนอาศัยอยู่ที่ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ไม่ต่างจากนักร้องสาวอินดี้อีสาน หลายคน ขวนขวายขึ้นเวทีประกวดร้องเพลง และอาศัยสื่อโซเชียลเป็นช่องทางนำเสนอผลงาน 

อาจารย์ในโรงเรียนหนองเรือวิทยา เห็นแววนำเพลงดังมากมายที่เธอคัฟเวอร์เป็นใบเบิกทาง อาทิ คู่คอง, ภาวะแทรกซ้อน, ผู้สาวขี้เหล้า, รำคาญกะบอกกันเด้อ ฯลฯ มาแชร์ให้วงกว้างรับรู้ผ่านยูทูบ และเฟซบุ๊ก และทำซิงเกิลเพลงหวานเป็นหลักให้ร้อง ก่อนได้รับโอกาสเซ็นสัญญาเป็นศิลปินสังกัดแกรมมี่ โกลด์ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 มีเพลง ‘ถอยใจ’ ที่แต่งเองร้องเองเป็นซิงเกิลแรกในชีวิต 

จุดเริ่มต้นนำพาสู่ความสำเร็จ เบลล์ นิภาดา ร้องไกด์เพลงให้เคอรี่มาส่งได้บ่ แนวป๊อปร็อคอีสาน ลงยูทูบและเฟซบุ๊กเรียกแขก มีคนเข้ามาฟังมาชมจำนวนมาก 

เมื่อเปลี่ยนแนวจากร้องเพลงช้าเป็นหลัก มาเป็นเพลงเร็วได้รับความนิยมเกินคาด จนมีเรตติ้งดีสมปรารถนา ยิ่ง ‘ใบปอ รัตติยา’ ราชินีรถแห่ที่คัฟเวอร์เพลงไหนดังเพลงนั้นนำร่องปล่อยลงยูทูบและนำไปร้อง นักร้องรถแห่หลายคันทำตามยิ่งติดตลาดไปกันใหญ่ 

พลิกชีวิตสาวน้อยที่ใช้ความสามารถด้านการร้องเพลงหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ตั้งแต่เรียนระดับประถมศึกษา เลื่อนขั้นเป็นนักร้องดาวรุ่งมาแรง มีคิวเดินสายคอนเสิร์ตแทบทุกวัน เหมือนกับที่ ‘ลำไย ไหทองคำ’ ทำให้เห็นมาแล้วกับเพลง ‘ผู้สาวขาเลาะ’ จากผลงานการประพันธ์ของ ‘อาม ชุติมา’

“เมื่อก่อนจากแค่ตื่นเช้าไปเรียนหนังสือ เลิกเรียนกลับบ้าน ตอนนี้ตื่นเช้าไปเรียนหนังสือ ตกเย็นไปเล่นคอนเสิร์ต กลับมาได้นอนนิดหน่อย แล้วก็ตื่นไปเรียนต่อ ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยค่ะ แต่มันเป็นความเหนื่อยที่มีความสุข ดีใจเห็นตั้งแต่เด็กน้อยๆ จนถึงพี่ๆ ร้องเพลงตามได้” เบลล์เปิดใจไม่ว่าคิวแน่นแค่ไหนเธอก็ยังไม่ทิ้งการเรียน

เบลล์ นิภาดา.jpg

สูตรสำเร็จเพลงดังกับการสื่อสารของวัยรุ่น

เบลล์กลายเป็นนักร้องที่มีอายุน้อยที่สุดของค่ายแกรมมี่ โกลด์ ประสบความสำเร็จกับสูตรความสำเร็จตามปรากฏการณ์ของสังคม ซึ่งเป็นของชอบของค่ายยักษ์ใหญ่ เหมือนกับที่เคยตัดสายสะดือทำคลอดนักร้องโนเนม ก่อนเติบโตเป็นเป็นศิลปินขวัญใจมหาชนในเวลาต่อมา ด้วยการนำโทรศัพท์มือถือ และพฤติกรรมการสื่อสาร มาแต่งเพลงดังหลายแบบ ได้รับความนิยม ในยุคการสื่อสารไร้สายเริ่มมาแรง

ยกตัวอย่างเพลง ‘โทรหาแนเด้อ’ เพลงดังชุดแรกของ ‘ต่าย อรทัย’ และเพลง ‘กินข้าวหรือยัง’ ที่สะท้อนชีวิตสาวโรงงาน คอยซื้อบัตรเติมเงินโทรถามไถ่แฟนว่ากินข้าวหรือยัง ด้วยความคิดถึงและห่วงใย

‘พี สะเดิด’ กับเพลง ‘รักคนโทรมาจังเลย’ บอกรักสาวคนรักทางโทรศัพท์ และ เพลง ‘เอาใจช่วยด้วย Message’ หยิบการส่ง SMS ส่งข้อความสื่อสารมากล่าวถึง เป็นต้น 

แต่เพลงที่ว่ากันว่าเป็นเพลงบุกเบิก ละลายพฤติกรรมนำการเขียนจดหมายมาไว้ในคำร้อง คือ เพลง ‘มนต์รัก ตจว.’ ของ ‘แดง จิตกร’ (เสียชีวิตแล้ว) ศิลปินตัวท็อปค่ายท็อปไลน์มิวสิคในอดีต ที่ผู้แต่งหยิบการโทรศัพท์นัดพบ และใช้เป็นเครื่องมือดูแลใจกัน ของหนุ่มสาว ตจว. เข้ามาต่อสู้ชีวิตใน กทม. ได้สุดซึ้ง เข้าถึงหนุ่มสาวโรงงาน กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ 

เบลล์ นิภาดา.jpg

จับเทรนด์ฮิตมาทำเพลงได้ลงตัว

‘จอร์น ขวัญชัย’ ผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง เข้าใจจับธุรกิจส่งของที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นเทรนด์ฮิตในสังคมปัจจุบัน มาเป็นจุดขายในเนื้อร้องท่อนฮุค ให้สาวน้อยเสียงใสที่เกิดมาในยุคดิจิทัล เปรียบเปรยสาวหลงรักหนุ่มหล่อให้เคอรี่มาส่งได้บ่ ฟังแล้วน่ารักไหลลื่น จนติดหูติดปากแฟนๆ 

ตรงตามสูตรที่ ‘เฉลิมพล มาลาคำ’ ศิลปินคนดัง เจ้าของฉายา ‘หมอลำอัจฉริยะ’ แต่งเพลงเองร้องเองมาโดยตลอดบอกไว้เป๊ะๆ “เขียนเพลงเขียนเมื่อไหร่ก็เขียนได้ หรือเขียนให้เยอะเท่าไหร่ก็ได้ ที่สำคัญที่สุดคือต้องหา จุดไคลแม็กซ์ หรือจุดเด่น เพื่อดึงดูดความสนใจเรียกคนมาฟังให้ได้”

‘โจ้ จังโก้’ ดีเจคนดัง ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยจัดรายการที่ ลูกทุ่งเอฟเอ็ม 95 ลูกทุ่งเวทีไท 90 อีสานเอฟเอ็ม 98 แสดงความเห็นว่า อ���นที่จริงทุกวันนี้ มีนักแต่งเพลงและศิลปินหลายคนพยายามจับเอา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมมาแต่งเพลงมากมาย แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่าเพลงนี้ ที่มีคำว่า ‘ให้เคอรี่มาส่งได้บ่’ เป็น ‘จุดจำ’

“ต้องยอมรับว่าเคอรี่เป็นเทรนด์เป็นคำฮิตอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้เวลาเราจะส่งพัสดุ ก็พูดถึงแต่เคอรี่ เคอรี่ จนติดปาก พอนำมาแต่งเป็นท่อนฮุคยิ่งทำให้ติดตลาดเร็ว” ดีเจคนดังเผยมุมมองความคิดข้อแรก

ข้อสอง เนื้อร้องเพลงภาษาอีสานเน้นความน่ารักใสๆ ไม่สมองไหลไปตามแนวสองแง่สองง่าม ผสมผสานกับจังหวะป๊อปร็อคอีสาน และคาแรคเตอร์ของนักร้องวัยใส เล่นกีต้าร์โฟล์ค ได้อย่างลงตัว 

ตรงใจเด็กเจน Z เกิดหลังปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ใช้สื่อโซเชียลเสพผลงานศิลปิน ทำให้ผลงานถูกแชร์ต่อไปเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว

“เพลงกับนักร้องลงตัวสนับสนุนกัน เพลงดังนักร้องก็ดัง แตกต่างกับหลายผลงาน เพลงดังจริงแต่นักร้องไม่เป็นที่รู้จัก เพราะไม่เนื้อหาไม่เข้ากับคาแรคเตอร์ของนักร้อง ดังที่เห็นหลายเพลงพอนักร้องคนอื่นเอาไปคัฟเวอร์ ได้รับความนิยมมากกว่านักร้องต้นฉบับ เพราะเหมาะกว่าน่าเชื่อถือกว่า” 

ดีเจคนดังซึ่งปัจจุบันจัดรายการที่ ลูกทุ่งรักไทย 90 บอกอีกว่า ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีกับเพลงหมอลำ ลูกทุ่งอีสาน มาตลอดชีวิต ในวงการเพลงใครขยับเจอสูตรที่ลงตัวก่อนก็ไปก่อน จากนั้นก็มีคนขยับตาม ช่วงเพลงแนวอินดี้อีสานเริ่มรุ่ง เน้นเรื่องรักอกหักก็แห่ตาม ตอนเพลงเนื้อหาสองแง่สองง่ามมาก็ไหลกันไปเรื่อย ผู้ตามส่วนใหญ่จะพบกับความล้มเหลว 

ด้วยความที่เพลงนี้ฉีกแนวออกมาเน้นความรักใสๆ ฟังแล้วสบายหูสบายหัว บวกกับความกับความน่ารัก น่าเอ็นดู ของตัวนักร้อง ทำให้มีความโดดเด่นออกมา จากเพลงที่เนื้อหามีความรุนแรง ก้าวร้าว นักร้องแต่งตัววาบหวิวล่อเสือล่อตะเข้ เน้นเอามันส์มากกว่าสร้างสรรค์ 

แม้เป็นสูตรความสำเร็จ เขียนอยู่บนกระดานค่ายยักษ์ใหญ่มาโดยตลอด แต่ก็เป็นของใหม่ดึงดูดความสนใจให้น่าติดตามมากกว่า