วันที่ 20 ต.ค.2565 สุขุมพงศ์ โง่นคำ คณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ให้ความเห็นผ่าน ‘วอยซ์’ ต่อกรณีที่ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ยังอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยย้ำว่าหากมีการยุบสภาในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยไม่แล้วเสร็จ จะส่งผลให้ประเทศสู่ทางตัน ไม่สามารถเลือกตั้งได้
สุขุมพงศ์ อธิบายว่า ทางตันดังกล่าวเป็นเพราะประธานรัฐสภาได้ส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภา ที่เห็นว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 148 แต่ความจริงแล้วเขาเห็นว่าไม่ควรใช้มาตราดังกล่าว แต่ควรดำเนินการตามมาตรา 132 (3) ซึ่งมีไว้สำหรับ พ.ร.ป.โดยเฉพาะ เพื่อให้ไม่เกิดทางตัน ขณะที่มาตรา 148 นั้นใช้สำหรับกฎหมายระดับ พ.ร.บ. จึงถือเป็นขั้นตอนที่ผิด
การส่งศาลรัฐธรรมนูญด้วยมาตราที่ต่างกัน นำมาซึ่งผลที่ต่างกันอย่างมากในสายตาของ สุขุมพงศ์
สำหรับความแตกต่างระหว่างมาตรา 148 และมาตรา 132 (3) โดยสังเขปคือ
มาตรา 132 (3) ไม่ได้กำหนดให้สมาชิกรัฐสภารวมรายชื่อส่งประธานรัฐสภาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพียงแต่กำหนดให้รัฐสภาส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นภายใน 15 วันนับแต่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย และหากศาลหรือองค์กรอิสระไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วันนับแต่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป
หากศาลหรือองค์กรอิสระเห็นว่าร่าง พ.ร.ป.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ต้องแจ้งรัฐสภาให้ประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขร่างให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้ง ในการนี้ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลหรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควร จากนั้นให้รัฐสภาดำเนินการต่อไปโดยไม่ต้องส่งศาลหรือองค์กรอิสระดูอีก
ในขณะที่มาตรา 148 กำหนดว่า หากส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วศาลเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องตกไปทั้งฉบับ
จึงเห็นได้ว่า ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ มาตรา 132 (3) ที่ สุขุมพงศ์ สนับสนุนนั้น มีกรอบเวลาการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจนกว่า และอำนาจหลักก็ยังอยู่ที่รัฐสภา
“เขากำหนดวิธีไว้แล้ว แต่กลับไม่ได้ใช้มาตรานี้ มีผมคนเดียวบอกให้ต้องใช้มาตรานี้ เพราะสมมติคุณส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หาก กกต. เห็นว่าไม่ขัด แต่ศาลบอกว่าขัด รัฐสภาก็ต้องนำมาแก้ภายใน 30 วัน เพราะเขาต้องการคืนอำนาจเป็นการถ่วงดุล และเร็วกว่าด้วย ถ้าทำแบบผมคือทีเดียวจบเลย ถ้าส่งศาล ศาลบอกว่าไม่ขัด คุณก็ไม่ต้องส่งอีกให้เหนื่อย”
สุขุมพงศ์ ยังเผยว่า การตัดสินใจว่าจะยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 148 นั้น เป็นเจตนาของ ส.ส.พรรคขนาดเล็ก และ ส.ว.ส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่าสามารถยื่นด้วยช่องทางนี้ได้ และเป็นสิทธิของประธานรัฐสภาที่จะรับหรือไม่รับ ซึ่งเมื่อเห็นว่าวิธีนี้สามารถทำได้ ก็จึงรับไว้ก่อนส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนจึงเป็นไปตามนั้น
สุขุมพงศ์ ย้ำว่า ตนได้ท้วงติงไปในที่ประชุมกรรมาธิการฯ ว่าขั้นตอนนี้ต้องยื่นตามมาตรา 132 (3) เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีข้อทักท้วงก็จะส่งกลับในเพื่อให้รัฐสภาแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน และตนยังได้ชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภาด้วย แต่เป็นสิทธิของสมาชิกฯ รวมถึงสิทธิของประธานรัฐสภาด้วย ที่เห็นว่าสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 148 ได้
"ความเห็นผมเหมือนไม่มีใครสนใจ แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาเห็นด้วยกับผมหลายคนแล้ว ว่าถ้าส่งตามมาตรา 132 (3) จะไม่เกิดทางตัน" สุขุมพงศ์ ระบุ
“หากยุบสภาแล้วไม่สามารถออก พ.ร.ก.ได้ ก็มาถึงทางตัน ชี้ทางสวรรค์ให้แล้วคุณไม่เข้า ถ้าทำอย่างผมบอกคือ ใช้มาตรา 132 (3) จะไม่เป็นทางตัน ไม่ว่าอย่างไรกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องแก้ได้” สุขุมพงศ์ กล่าว
สุขุมพงศ์ ให้ความเห็นว่า หากยุบสภาก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งเสร็จจะนำมาสู่ทางตัน แม้หลายฝ่ายจะมองว่าถึงยุบสภาแล้ว ฝ่ายบริหารก็สามารถออก พ.ร.ก.เพื่อดำเนินการเลือกตั้งได้ แต่สุขุมพงศ์ ชี้ว่าการออก พ.ร.ก. จำเป็นต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา กรณีที่ยุบสภา โดยสภาพแล้วย่อมไม่สามารถออก พ.ร.ก.ได้ เนื่องจากไม่มีรัฐสภามาให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.นั้น
"หรือจะรอจนมีการเลือกตั้ง เสร็จแล้วประกาศผล จากนั้นมี ครม. เมื่อ ครม. แถลงนโยบาย แล้วส่ง พ.ร.ก.มาให้สภาเห็นชอบ หากสภาไม่ยินยอมจะทำอย่างไร การเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะไปหมดหรือ? ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ จะมีปัญหาในภายหลังอยู่ดี การเลือกตั้งหลังออก พ.ร.ก. จะกลายเป็นโมฆะทั้งหมด ประเทศไทยเราโมฆะไปแล้วหลายรอบ จะกลายเป็นมีฝ่ายที่ตั้งตนรัฏฐาธิปัตย์ไปอีกทีหรือเปล่าก็ไม่รู้" สุขุมพงศ์ เน้นย้ำ