ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ดองค์การเภสัชกรรม ระดมทีมกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรหารือร่วมกันว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่หากกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ยกเลิกคำขอสิทธิบัตร ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันยังไม่มีใครได้สิทธิบัตรกัญชา

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ว่า คลายล็อกครั้งนี้ไม่ใช่เสรี ยังมีการควบคุมเช่นเดิม เพียงแต่เปิดทางให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ส่วนข้อกังวลเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชาจากต่างชาติ ขณะนี้ได้มอบให้ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ระดมทีมนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตร มาหารือร่วมกันว่า อภ.จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง หากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ยกเลิกคำขอสิทธิบัตรที่มีปัญหา  

ทั้งนี้ องค์การเภสัชฯ ไม่เห็นด้วย กรณีให้ 'ต่างชาติ' เข้ามาถือหุ้นในสิทธิบัตรกัญชา เพราะจะได้ผลประโยชน์ไปตลอด เนื่องจาก 'ต่างชาติ' จ้องจะเข้ามาหาผลประโยชน์จากไทยนานแล้ว แต่ควรดำเนินการในลักษณะให้ 'ต่างชาติ' แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีมากกว่า

เมื่อถามว่า "หากอนาคตร่วมทุนต่างชาติ ทางองค์การเภสัชกรรมต้องทบทวนการเดินหน้าสร้างโรงงานสกัดน้ำมันกัญชาหรือไม่" นพ.โสภณ กล่าวว่า หากมีการเปิดร่วมทุนต่างชาติจริง ซึ่งมีเงินทุน มีเทคโนโลยีเข้ามา ต่างชาติจะได้เปรียบ เพราะเขาวิ่งไปก่อนหน้าไทยนานแล้ว ถ้าร่วมเอกชนก็จะไปได้ไว ขณะที่องค์การเภสัชกรรมจะเดินหน้าเอง อะไรก็ต้องเป็นไปตามระเบียบที่มีความล่าช้า กว���าจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาสายพันธุ์ก็เสียเปรียบแล้ว แต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นล้มเลิกโครงการที่ทำอยู่ แต่ต้องทบทวนเรื่องขนาดโครงการ ว่าจะทำแค่ไหน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในเมืองไทย หากดูแลคนครึ่งหนึ่ง ก็ลงทุนระดับหนึ่ง หากดูแลแค่ ร้อยละ 10 ต้องทำขนาดไหน เรื่องนี้ลำบาก เพราะคนอื่นเขาวิ่งนำ แล้วเราวิ่งตาม เพราฉะนั้นจะลดขนาดจากแผนเดิมหรือไม่ ต้องไปศึกษาความต้องการ และความเป็นไปได้อีกครั้ง แต่ต้องทำให้เร็วเป็นหลัก

ก่อนหน้านี้ บอร์ดองค์การเภสัชกรรม มีมติให้ปลูก และทำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ระยะสั้น ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท คาดว่าจะปลูกได้ครั้งแรกก่อนวันที่ 14 ก.พ. 2562 เพราะตามโรดแมปต้องผลิตน้ำมันกัญชาออกมาราวเดือน พ.ค. 2562 และยังต้องเดินหน้าผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ด้วยงบประมาณ 130 ล้านบาท

ยืนยันไม่มีใครได้ 'สิทธิบัตรกัญชา'

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค. 2562 จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อติดตามความคืบหน้าการจดสิทธิบัตรกัญชา หลังจากมีการยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชา รวม 31 รายการ แบ่งเป็น สิทธิบัตรที่ใช้สารสกัดกัญชา 1 รายการ สิทธิบัตรที่ใช้กัญชาเป็นองค์ประกอบในการรักษา 10 รายการ และสิทธิบัตรส่วนที่เป็นสารสังเคราะห์ออกฤทธิ์เหมือนกัญชา 20 รายการ พร้อมยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ ตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงเกิดการล่าช้าบ้าง แต่กระบวนการทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ กรมฯ ยังไม่ได้มีการรับจดทะเบียนคำขอรับสิทธิบัตร ที่มีสารสกัดจากกัญชาแต่อย่างใด ทั้งนี้ 2 คำขอที่มีสารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธคำขอไปแล้ว เพราะสารสกัดจากกัญชาจดสิทธิบัตรไม่ได้ 

ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ผู้ขอชี้แจงกลับมาภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งผู้ขอยังไม่ได้ชี้แจงกลับมา โดยถ้าไม่ชี้แจงภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะถือว่าละทิ้งคำขอ หรือหากชี้แจงมาแล้ว เห็นว่าไม่ควรได้รับการจดสิทธิบัตร ก็จะปฏิเสธ คำขอก็จะตกไป

สาเหตุที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาในทันที เพราะมีขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย ต้องรอให้ผู้ยื่นคำขอยื่นหลักฐานประกอบการขอจดสิทธิบัตรเข้ามาก่อน หลังจากประกาศโฆษณา แต่ผู้ขอยังไม่ได้ยื่นเข้ามา ถ้ายื่นเข้ามาก็จะปฏิเสธได้ทันที 

ส่วนที่ไม่ใช้อำนาจอธิบดีฯ สั่งยกเลิก เพราะจะมีผลกระทบต่อการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรรายการอื่นๆ โดยในอนาคตหากมีผู้คัดค้าน ทุกคนก็จะเรียกร้องให้ใช้มาตรานี้ยกเลิก และถ้าดำเนินการก็จะกระทบต่อกระบวนการจดสิทธิบัตรในภาพรวมได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง