ไม่พบผลการค้นหา
รมต.-ส.ส.ที่เป็นอดีตแกนนำ กปปส.ยังคงต้องรอลุ้นว่าผลจากคำพิพากษาของศาลให้จำคุกและปล่อยตัวชั่วคราวนั้นจะมีผลให้พ้นเก้าอี้ รมต. และ ส.ส.ในสภาฯ หรือไม่ แม้ล่าสุดจะมีความเห็นจาก 'ถาวร เสนเนียม' ออกมาว่าตัวเองยังไม่พ้น ส.ส.

สถานะ ส.ส.และรัฐมนตรีของอดีตแกนนำ กปปส. ประกอบด้วย ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ อิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่เพิ่งถูกศาลอาญามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ให้จำคุกในคดีเป็นแกนนำ กปปส.ชุมนุมเมื่อปี 2556-2557 ในความผิดอย่างน้อย 9 ข้อหา ทั้งเป็นกบฏ ขัดขวางการเลือกตั้ง เป็นต้น

โดยศาลอุทธรณ์ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 800,000 บาท เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2564

หากดูตามข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญแล้วความเป็นรัฐมนตรีของ 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) 'ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ' รมว.ศึกษาธิการ และ 'ถาวร เสนเนียม' รมช.คมนาคม จะต้องพ้นจากรัฐมนตรีทันที

เพราะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

สำหรับสถานะ ส.ส.นั้น มี ส.ส. 3 คน คือ 'ณัฏฐพล' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 'อิสสระ สมชัย' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ 'ชุมพล จุลใส' ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกศาลอาญามีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

3 ส.ส.จึงเข้าลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (4) เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

ณัฏฐพล พุทธิพงษ์ พลังประชารัฐ สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ 19_52.jpg

ในขณะที่ 2 รัฐมนตรีที่เป็นสถานะ ส.ส.นั้น คือ 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ 'ถาวร เสนเนียม' ส.ส.สงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 พรรคประชาธิปัตย์

ล่าสุด 'ถาวร' ยืนยันข้อกฎหมายว่าตัวเองยังไม่พ้นความเป็น ส.ส.

โดย 'ถาวร' ย้ำว่าตนยังมีคุณสมบัติความเป็นส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13) ที่กำหนดว่าสมาชิกภาพของส.ส.เมื่อต้องเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ส่วนที่มีบางคนตีความเรื่องลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ที่ระบุว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาลนั้น ที่จริง ถ้าเป็นการถูกจำคุก เพียง 1 ชั่วโมงแล้วต้องขาดคุณสมบัติความเป็นส.ส. จนนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้รัฐเกิดความเสียหายจากการต้องเสียเงินหลายสิบล้านบาทสำหรับการจัดการเลือกตั้งดังกล่าว

“กรณีของผมจะถูกนำไปเทียบกรณีของ นวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ เพราะศาลพิพากษาไม่ให้ นวัธได้รับการประกันตัว ทำให้ไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ได้ จึงต้องพ้นจากสภาพความเป็นส.ส. ทั้งนี้ผมไม่ได้รู้สึกเสียดายหรือหวงตำแหน่งส.ส. แต่มีความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ และถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สภาผู้แทนราษฎร หรือองค์กรที่มีอำนาจ ได้ตัดสินถึงที่สุดแล้ว ผมพร้อมยอมรับ” ถาวร กล่าว

สุเทพ ทยา อัญชะลี กปปส ศาลอาญา สาทิตย์ 6666666666666666224.jpg

ประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวจึงทำให้ กกต.ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสั่งให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เกิดขึ้นหรือไม่ จากกรณีที่ ส.ส.สาย กปปส.ถูกคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังโดยหมายของศาล และต่อมาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

กรณีนี้มีความเป็นไปได้ที่ กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามสถานะ ส.ส.ของ ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคท้ายให้ กกต.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

เช่นเดียวกับสถานะความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคท้ายก็ให้อำนาจ กกต.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีได้เช่นกัน

ยิ่งดูความเห็นข้อกฎหมายของ 'สมชัย ศรีสุทธิยากร' อดีต กกต.ที่ตีความว่ายกกรณี 3 กกต.ที่เคยถูกตัดสินจำคุกเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2549 คนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีด้วยข้อหาจัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที โดยถูกคุมขังเป็นเวลา 3 วัน

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 137(4) กำหนดว่า คนที่จะเป็น กกต. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 109 (4) ที่เขียนว่า "ต้องคำพิพากษาจำคุกและถูกควบคุมโดยหมายศาล"  

นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไม กกต.ทั้ง 3 คนในขณะนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งทันที เมื่อศาลส่งเข้าเรือนจำ ด้วยเหตุขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่มาทำงานต่อโดยเริ่มงานตั้งแต่ 20 ก.ย. 2549 

'สมชัย' ยกข้อความในมาตรา 109 (4) ของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้เป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเนื้อหาเดียวกับ มาตรา 98(6) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นเมื่อ ส.ส. และรัฐมนตรี ถูกส่งเข้าเรือนจำ เพียงวันเดียวก็หลุดจากตำแหน่ง 

"ทบทวนความจำอีกนิด คดี กกต.ชุดที่ 2 ติดคุก และพ้นตำแหน่งทันที คนยื่นฟ้องชื่อ ถาวร เสนเนียม" สมชัย ระบุ

ขณะเดียวกัน หากดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ก็ยังเปิดช่องทางให้ไม่ต้องส่งเรื่องตีความในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

หากบรรดา ส.ส.สาย กปปส.ต้องการโชว์สปิริตอยู่เหนือกฎหมายด้วยการใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญ ลาออกจาก ส.ส. จะทำให้สถานะ ส.ส.สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (2)

ส่วนผู้มีสถานะรัฐมนตรีหากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายก็สามารถใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (2) ลาออกจากความเป็นรัฐมนตรี

เพียงเท่านั้น เรื่องก็ไม่ต้องส่งไปถึงชั้นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เสียเวลา เพียงเพราะถูกปล่อยตัวชั่วคราวหลังถูกศาลอาญาชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง