ไม่พบผลการค้นหา
“ยึดอำนาจ ถวายอำนาจให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วกลับกรมกอง พระองค์ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โอนอำนาจให้รัฐบาลแห่งชาติไปเลย ผมไม่อยากพูดว่านี่เป็นแนวทางหนึ่ง แต่เป็นแนวทางเดียว ตอนแรกคนคงต่อต้านเยอะ แต่เมื่อโอนอำนาจทั้งหมดให้รัฐบาลแห่งชาติ คนก็ไม่ติดใจว่าสืบทอดอำนาจ”

สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ระบุ ผ่านรายการ "คนเคาะข่าว" ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง นิวส์วัน เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563

ข้อเสนอของ 'สนธิ' ให้ถวายคืนพระราชอำนาจให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เกิดขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวของมวลชน 'คณะราษฎร 2563'

ซึ่ง 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม มีประเด็นที่ทำให้กลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้ามไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่เคลื่อนไหวภายใต้ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย ด้วยการใช้อาวุธหลักคือสื่อโซเชียลมีเดีย

ได้เกิดพลังไปทั่วกรุงเทพฯ และทั่วภูมิภาคของประเทศ

พลังดาวกระจายของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 

ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออกให้กับการชุมนุมนอกรัฐสภา

ในภาวะที่หาทางออกยังไม่ได้ !

AFP-ม็อบ17ตุลา วงเวียนใหญ่ ชูสามนิ้ว ทุกคนคือแกนนำ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนกรานกลางที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไม่สนกระแสเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง

ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมนอกรัฐสภาและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็กดดันและชูข้อเรียกร้องหลักคือ 'นายกฯ ต้องลาออก’

แนวคิด 'ถวายคืนพระราชอำนาจ' ที่ถูกจุดขึ้นอีกครั้งในขณะนี้ภายใต้สื่อในเครือของ 'สนธิ' ในวัย 73 ปี ไม่ใช่เรื่องใหม่

เพียงแต่เมื่อเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 15 ปีก่อน ผ่านการเคลื่อนไหวปลุกมวลชนคนเสื้อเหลืองที่รักสถาบัน

ในรูปแบบการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร เมื่อปลายปี 2548 - ต้นปี 2549 เพื่อโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง

หากจำกันได้ เมื่อครั้งที่ 'สนธิ' จัดรายการเมืองไทยฯ สัญจร ครั้งที่ 8 ที่สวนลุมพินี เมื่อปี 2548 ก็เคยนำมวลชนที่มาฟังการจัดรายการของเขา ถึงแนวคิดการถวายคืนพระราชอำนาจ (อ้างอิง เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ 12 พ.ย. 2548) 

"สถานการณ์ของชาติบ้านเมืองในเวลานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการแก้ไข ปรับปรุงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญด้วยแนวทางสันติวิธี และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการถวายพระราชอำนาจคืนแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในการพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง เพื่อดำเนินการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองใหม่ ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ"

ครั้งนั้น 'สนธิ' สรุปโมเดลที่จะเกิดขึ้นหลังถวายคืนพระราชอำนาจว่า อย่างน้อยต้องมีสารัตถะไม่บังคับผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง ไม่มีมาตรการทำลายพรรคขนาดเล็ก นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง และจัดระบบที่มาของวุฒิสภาเสียใหม่ไม่ให้เป็นช่องทางแทรกแซงของพรรคการเมืองทั้งหมด รวมทั้งจะต้องมีมาตรการพิเศษเฉพาะหน้าเพื่อการขจัดคอร์รัปชันในโครงการใหญ่ ให้เป็นผลเป็นรูปธรรม 

"โครงสร้างทางการเมืองใหม่ที่มาจากการพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมืองของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทนี้ ประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้ออกเสียงเป็นประชามติก่อนประกาศใช้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักของราชประชาสมาศัย เป็นความอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ"

"ถ้าพ่อแม่พี่น้องประชาชนไม่ขัดข้องในคำอารัมภบท ผมอยากจะกล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณ ร่วมต่อสู้เพื่อถวายคืนพระราชอำนาจ ถ้าไม่ขัดข้องปรบมือให้หน่อย พวกเราพร้อมใจกันกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณนะครับ อ่านตามผม แล้วก็เมื่อถึงตัว "ข้าพระพุทธเจ้า นาย..." แล้วก็ให้เอ่ยชื่อตัวเองนะครับ"

"ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า (สนธิ ลิ้มทองกุล) จะดำเนินการต่อสู้อย่างสุดความสามารถด้วยแนวทางสันติวิธี และโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการถวายพระราชอำนาจคืนแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ ในการพระราชทานผู้นำ ในการปฏิรูปการเมือง เพื่อดำเนินการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองใหม่ ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อมุ่งหวังจรรโลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้มีเสถียรภาพ มั่นคง ก่อเกิดประโยชน์สุขต่อปวงประชากร และตัดช่องทางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวให้กับกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว"

"ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า นับจากนี้เป็นต้นไป จะร่วมแรงร่วมใจ สองแขน สองมือ หนึ่งสมอง ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อนำประเทศไทยถวายคืนแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ เพื่อทรงใช้ร่วมกับประชาชน ตามหลักราชประชาสมาศัย อันเป็นหลักนิติธรรมดั้งเดิมแห่งระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยโดยเร็ววัน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ"

สนธิ ลิ้มทองกุล จำลอง ศรีเมือง พันธมิตร Del223080.jpg

รูปแบบการจัดรายการเมืองไทยฯ สัญจร ของ 'สนธิ' ยกระดับจากการทำหน้าที่สื่อมวลชน มาเป็นการนำมวลชนครั้งใหญ่ ก่อตัวในปลายปี 2548 จนถึงต้นปี 2549 

วลี "ทักษิณ...ออกไป" ถือกำเนิดการขับไล่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ก็มาจากปากของ 'สนธิ' ซึ่งผันตัวจากสื่อมวลชนอาวุโส มาเป็นผู้นำม็อบข้างถนนด้วยการจับมือหลายองค์กร จัดตั้ง 'กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เคลื่อนไหวชุมนุมไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

การชุมนุมที่นำโดย 'สนธิ' เมื่อต้นปี 2549 มีการนำมวลชนเดินขบวนไปที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในขณะนั้น เพื่อถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผ่าน พล.อ.เปรม

พันธมิตร เสื้อเหลือง 1652005.jpg

แน่นอนว่าสูตร 'ถวายคืนพระราชอำนาจ' เพื่อจัดตั้ง รัฐบาลแห่งชาติ ไม่ใช่เรื่องใหม่

"ใครก็ตามที่คิดปฏิวัติ อย่าทำพลาดเหมือน คสช. คสช.ปฏิวัติปั๊บ ยึดอำนาจเข้าตัวเอง แล้วก็ต่อยอดอำนาจ" สนธิ ระบุในปี 2563 

อดีตแกนนำมวลชนคนเสื้อเหลืองที่เคยประสบความสำเร็จในการเรียกทหารให้ออกมายึดอำนาจเมื่อปี 2549 ได้ขยายความแนวคิด รัฐบาลแห่งชาติ อย่างเป็นขั้นตอน

"รีบถวายอำนาจนี้คืนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้มา ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านไม่ใช้อำนาจนี้หรอก แต่พระองค์ท่านเมื่อรับมาแล้ว พระองค์ท่านจะต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาทันที รัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งมีทุกฝ่ายเข้ามาร่วม รัฐบาลแห่งชาติ มีหน้าที่ 2 ประการ ประการแรก หาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ติดชะงัก ให้มันกลับไปในการดำเนินการในทางที่ดี อีกปัญหาหนึ่งคือ รีบดำเนินการทางการเมือง ระดมสมอง เอาทุกฝ่ายเข้ามา แล้วก็มาบอกว่า เรามาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่"

"ให้เวลาไม่เกิน 2 ปี ผมคิดว่าแฟร์ รัฐบาลแห่งชาติ ก็เอาคุณอนุทิน ชาญวีรกูล เข้ามาคนหนึ่ง ประชาธิปัตย์คนหนึ่ง เอาพรรคก้าวไกลเข้ามาคนหนึ่ง เป็นรัฐมนตรี นึกออกไหม ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม แต่คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี และทีมนายกรัฐมนตรี จะต้องเน้นหนักไปในด้านเศรษฐกิจเลย ไม่ต้องสนใจเรื่องอื่น ทางการเมืองต้องมีรองนายกฯ ฝ่ายการเมือง คนๆ นี้ทำเรื่องการเมืองอย่างเดียวเลย เดินหน้า ภายใน 2 ปี มีเป้าหมาย แต่ต้องไม่มีคนชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ หรือวิษณุ เครืองาม เข้ามาเกี่ยวข้อง อันนี้จะเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่"

"รัฐบาลแห่งชาติชุดใหม่ต้องไม่มีทหารเข้ามาเลยนะ ต้องไม่มีทหารเข้ามาเลยนะ"

โมเดลรัฐบาลแห่งชาติที่เสนอโดย 'สนธิ' ชายผู้มาประสบการณ์ที่เคยจุดแนวคิดรัฐประหารให้กับ 'พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน' เมื่อปี 2549 ออกมาล้างกระดานฉีกรัฐธรรมนูญ กับ โมเดล 'รัฐบาลแห่งชาติ' ในปี 2563 ที่ถูกปัดฝุ่นอีกครั้งภายใต้ชายที่ชื่อเดิมคือ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' และวันนี้เป็นเพียงผู้นำมวลชนในอดีต

จะแตกต่างกันตรงที่ปี 2563 'สนธิ' ไม่ได้เป็นผู้นำมวลชนม็อบนอกรัฐสภา เป็นเพียงสื่อมวลชนที่จัดรายการวิเคราะห์การเมืองอย่างแหลมคมและร้อยเรียงเรื่องให้ชวนน่าฟังและติดตาม

ในขณะที่ปี 2563 คนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่คนรุ่นเก่าได้กลายมาเป็นผู้นำหรือ 'ทุกคนคือแกนนำ' ภายใต้ 'คณะราษฎร 2563'

ม็อบคณะราษฎร 2563 ที่มีแนวคิดปฏิรูปสถาบันฯ ไม่เอาการรัฐประหาร ต้องการเปลี่ยนผ่านภายใต้กติการัฐธรรมนูญเท่านั้น ก็คงไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐบาลแห่งชาติ

จุดยืน 'คณะราษฎร 2563' จึงต่างจาก 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' เมื่อปี 2549 ที่เคยชูธงขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ไปจนถึงถวายคืนพระราชอำนาจ

จนสุดท้าย 'ม็อบเสื้อเหลือง' ได้ปลุกเร้าจนเป็นเงื่อนไขให้ทหารออกมายึดอำนาจไม่มีที่สิ้นสุด!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง