ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณาใหม่ คดี 'วีระ' ให้ ป.ป.ช. เปิดข้อมูลนาฬิากา 'ประวิตร' ชี้ข้ออ้างที่ยกขึ้นสู้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์-ไม่ใช่หลักฐานใหม่

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอของสำนักงาน ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ขอให้พิจารณาคดีที่ วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น (คปต.) ยื่นฟ้องสำนักงานป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ช ขอให้เปิดเอกสารการไต่สวนคดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาจงใจยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรทราบกรณีไม่แสดงว่ามีนาฬิกาข้อมือและแหวนประดับหลายรายการ จำนวน 3 รายการ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 ใหม่ หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ ป.ป.ช. เปิดเอกสารทั้ง 3 รายการแก่ วีระ แต่ต่อมา ป.ป.ช.มีมติให้เปิดเอกสารเพียง 2 รายการ คือรายการที่ 1.รายงานและ สำนวนการตรวจสอบ การไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายการการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน เอกสารทั้งหมด และ 2.เอกสาร รายการที่ 3 รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนเอกสารรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบ ป.ป.ช. มีมติไม่เปิด โดยอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการปปชและพนักงานไต่สวน รวมทั้งบุคคลภายนอกที่มาให้ข้อมูล พร้อมกับมีมติให้สำนักงานป.ป.ช.ยื่นขอศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่

ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุเหตุผลว่า ความเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งอันแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าวในชั้นตรวจคำฟ้องก่อนที่จะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว แม้ประเด็นการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่กรณีไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามข้อ 92 ประกอบข้อ 116 ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของยวีระ กับ สำนักงาน ป.ป.ช.และคณะกรรมการเองก็มิได้ยกขึ้นโต้แย้งทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับมาตรา 69อวรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาล จะต้องระบุถึงความเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จะมีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

เมื่อคดีนี้สำนักงาน ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้โต้แย้งการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของวีระ ทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดตามที่กล่าวมา ศาลจึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยและระบุไว้ในคำพิพากษา กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาลมีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวอ้างซึ่งจะทำให้ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

ส่วนกรณีที่สำนักงาน ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ช. อ้างว่า เอกสารที่ วีระมีคำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย ตามมาตรา 36 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2562 และตามมาตรา 15 (2) (3) และ (4) พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 และยังได้อ้างพยานหลักฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560และคดีหมายเลขแดงที่ อร. 74/2564 โดยมิได้พิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ อ.681/2560 ซึ่งมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับคดีนี้ และการไต่สวนของกรรมการป.ป.ช. เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นั้น เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างในการขอพิจารณาคดีใหม่ดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.224/2566 ได้วินิจฉัยไว้แล้ว กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน การพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเท่านั้น

กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ตามที่อ้างดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของสำนักงาน ป.ป.ช และคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้