ไม่พบผลการค้นหา
ทิสโก้ หั่นจีดีพีไทยปี 2563 เป็นติดลบร้อยละ 6.9 จากต้นปีคาดเติบโตร้อยละ 0.8 ชี้หลากปัจจัยรุมเร้า "นักท่องเที่ยวต่างชาติลด-ราคาน้ำมันดิบลง-ภัยแล้งยืดเยื้อ-โควิดซ้ำ"

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ธนาคารทิสโก้ หรือ TISCO ESU เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง ให้ติดลบร้อยละ 6.9 จากเดิมคาดว่าเศรษฐกิจจะโตร้อยละ 0.8

ประมาณการดังกล่าวอิงสมมติฐานหลัก 3 ประการ ได้แก่

  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปีก่อน เหลือ 12 ล้านคน
  • ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์เดิมที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
  • ภัยแล้งมีความรุนแรงยืดเยื้อจนถึงเดือนกันยายน จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่เดือนพฤษภาคม ซึ่งทำให้คาดว่าผลกระทบจากภัยแล้งจะกลายเป็น ร้อยละ 0.7 ของ GDP จากเดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 0.2 ของ GDP

พร้อมกับย้ำว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงในด้านต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แย่ลงมากอย่างมีนัยยะและมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งหากภัยแล้งลากยาวถึงสิ้นปี ก็คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 0.5 โดยการประชุมคณะกรรมการครั้งล่าสุดยังเสียงแตกและคำแถลงการณ์ยังระบุว่า พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพิ่มเติมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการทางการเงินอื่นๆ ที่เหมาะสมและทันการณ์

ขณะเดียวกัน เงินบาทจะถูกกดดันเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าจากภาพรวมเศรษฐกิจที่เปราะบาง รวมถึงความวุ่นวายทางการเมืองที่น่าจะกลับมาหลังจากการแพร่ระบาด COVID-19 สิ้นสุดลง

นอกจากนโยบายทางการเงินแล้ว TISCO ESU คาดหวังการตอบสนองของนโยบายการคลังที่มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับความอ่อนไหวของเศรษฐกิจจาก COVID-19 โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพื่อเยียวยาผลกระทบจากไวรัส (ระยะที่ 1 และ 2) มีเม็ดเงินราวร้อยละ 2 ต่อจีดีพี ซึ่งยังไม่เพียงพอจะชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 9 ดังนั้น จึงสนับสนุนให้รัฐบาลใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ทั้งหมด (เช่น พ.ร.ก. กู้เงิน) เพื่อที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้

ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีพื้นที่สำหรับกู้เงินเพิ่มเติมราว 2.42 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน และยังอยู่ภายใต้เกณฑ์กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

นอกจากนี้ เงินที่พร้อมสำหรับการเบิกจ่ายในมือของรัฐบาลอย่างงบประมาณประจำปี 2563 จำเป็นจะต้องถูกเบิกจ่ายอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนไว้สูงมากที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ในปีงบประมาณนี้ (แม้ว่างบประมาณจะล่าช้ากว่าปกติไปเกือบ 5 เดือน) ซึ่งถ้ารัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้า (ในอดีตช่วงที่สถานการณ์ปกติรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้น) จะช่วยลดความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทย และอาจช่วยให้เศรษฐกิจไม่แย่เท่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไทยหดตัวติดลบร้อยละ7.6

ตลาดหุ้น-กระดาน-หุ้นตก


คาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวชั่วคราวจากอานิสงส์การผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ด้านนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับมุมมองตลาดหุ้นเดือนเมษายน บล.ทิสโก้คาดว่าหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวชั่วคราวจากอานิสงส์การผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบเต็มที่ของธนาคารสำคัญของโลก ทั้งการลดดอกเบี้ยลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาล เพื่อพยุงเศรษฐกิจและลดความปั่นป่วนในตลาดการเงิน

นอกจากนี้ รัฐบาลในหลายประเทศยังทยอยออกมาตรการเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย โดยมองเป้าดัชนีหุ้นไทยในรอบนี้น่าจะฟื้นตัวจำกัดที่บริเวณ 1,140-1,200 จุด อิงมาจากปัจจัยทางเทคนิคที่เคยเป็นโซนจุดต่ำและจุดสูงหลายครั้งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา


ถึงแม้จะมองว่าหุ้นไทยมีโอกาสจะฟื้นตัวได้ แต่ต้องยอมรับว่าความผันผวนก็ยังสูงอยู่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง บล.ทิสโก้ยังคงกลยุทธ์การทยอยสะสมหุ้นแบบแบ่งซื้อในช่วงตลาดผันผวน ขณะเดียวกัน ช่วงตลาดรีบาวด์ก็ควรขายล็อกกำไรไว้บ้าง รอย่อตัวซื้อคืน


ลุ้น SET พ้นภาวะตลาดหมี หลังอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชีลงมาต่ำ

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า แม้ว่าความไม่แน่นอนยังมีอยู่ แต่ก็มีลุ้นมากขึ้นว่าดัชนีหุ้นไทยอาจผ่านจุดต่ำสุดของภาวะหมีรอบนี้ไปแล้วที่บริเวณ 970 จุด หรือคิดเป็นอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) ที่ 1.1-1.2 เท่า ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียงเส้นแนวโน้ม P/BV ระยะยาวในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ที่บริเวณ 0.5-0.6 เท่า และ 0.8-0.9 เท่า ตามลำดับ ผสานกับหุ้นไทยมีตัวช่วยเข้ามาพยุงตลาดมากขึ้น เช่น การประกาศซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน ที่นับตั้งแต่ต้นปีนี้มีวงเงินซื้อคืนรวมมากกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์, กองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) แบบพิเศษที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินทยอยไหลเข้าตลาดประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน – มิถุนายน)

ประเด็นสุดท้ายคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อควบคุมความผันผวนของตลาด เช่น การปรับเกณฑ์การขายชอร์ตจากราคาไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย เป็นราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย, การปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor และปรับเกณฑ์การหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) จาก 2 ระดับ เป็น 3 ระดับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :