ไม่พบผลการค้นหา
'สุริยะ' การันตีนโยบาย 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' เปิดใช้ครบทุกสี-ทุกเส้นทาง รวม 8 สายทาง ดีเดย์ 30 ก.ย. 68 เตรียมเปิดลงทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” ส.ค.นี้ ชำระค่าเดินทางผ่านบัตรโดยสารของแต่ละเส้นทาง ยันไม่ยุ่งยาก-ไม่ซับซ้อน พร้อมเร่งอัพเกรดระบบจ่ายผ่าน QR Code ไม่ต้องพกบัตรภายในปี 69

'สุริยะ' การันตีนโยบาย 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' เปิดใช้ครบทุกสี-ทุกเส้นทาง รวม 8 สายทาง ดีเดย์ 30 ก.ย. 68 เตรียมเปิดลงทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” ส.ค.นี้ ชำระค่าเดินทางผ่านบัตรโดยสารของแต่ละเส้นทาง ยันไม่ยุ่งยาก-ไม่ซับซ้อน พร้อมเร่งอัพเกรดระบบจ่ายผ่าน QR Code ไม่ต้องพกบัตรภายในปี 69 เดินทางสะดวก-ประหยัด-ปลอดภัย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทางในอัตรา 20 บาทตลอดสายว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ จากผลการดำเนินนโยบายดังกล่าว พบว่า ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ

สำหรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ ประกอบด้วย สายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์นั้น ยืนยันว่า จะประกาศใช้ในวันที่ 30 กันยายน 2568 เป็นต้นไป ตามที่เคยกำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการนโยบายดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 8 สายทาง โดยในระยะแรกผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จำกัดเฉพาะผู้ที่มีเลขบัตรประชาชนไทย 13 หลักเท่านั้น และต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งคาดว่า จะเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงเดือนสิงหาคม 2568 อย่างไรก็ตาม ยืนยันอีกว่า การลงทะเบียนจะไม่ยุ่งยาก และไม่ซับซ้อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ การลงทะเบียนใช้มาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐนั้น เพื่อยืนยันตังตน และเพื่อให้ระบบสามารถเคลียร์ค่าใช้จ่ายการเดินทางข้ามสายระหว่างผู้ให้บริการแต่ละรายได้ กล่าวคือ หากจะใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สามารถชำระค่าโดยสารผ่านบัตร MRT Plus และบัตร EMV ส่วนถ้าจะใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู จะต้องชำระค่าโดยสารผ่านบัตร Rabbit โดยไม่ว่าจะใช้บริการกี่สายทาง หรือข้ามสายทางทุกระบบ จะมีค่าโดยสารเพียง 20 บาทเท่านั้น

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า บัตรโดยสารที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายฯ ผู้โดยสารยังคงสามารถใช้บัตรโดยสารที่ใช้อยู่เดิมได้ เพียงแต่ต้องลงทะเบียนบัตรเหล่านั้น ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐก่อนจึงจะได้รับสิทธิ์ 20 บาทตลอดสาย ในส่วนของการพัฒนาในระยะที่ 2 (เฟส 2) คาดว่า ภายใน 2569 จะมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบสแกนชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายผ่านช่องทาง QR Code บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้บัตรโดยสารอีกต่อไป

ขณะที่ การชดเชยรายได้ให้เอกชนผู้ประกอบการนั้น ประเมินว่า จะต้องใช้ประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท โดยจะนำเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือกองทุนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 16,000 ล้านบาทมาชดเชยรายได้ฯ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ ซึ่งจะเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568 แน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอีก 1 ปัจจัยในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วย