ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหามลพิษทางอากาศคือหนึ่งในประเด็นหลักที่จะถูกพูดถึงอย่างมากในทศวรรษใหม่นี้ หนึ่งสิ่งที่อยู่คู่โลกมานานอย่าง 'การจุดดอกไม้ไฟ' กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อหลายประเทศเห็นว่าที่คืออีกหนึ่งสาเหตุของอากาศพิษ และ PM 2.5 ที่ทุกคนต่างกำลังหาทางแก้ - ด้านสวิตเซอร์แลนด์นำร่องใช้เทคโนโลยีและทดแทนการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ตลอดระยะเวลาหลายพันปีในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการเริ่มสร้างดอกไม้ไฟ หรือ พลุ เพื่อใช้ในการเฉลิมฉลองครั้งแรกในประเทศจีนมาจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมนี้กลายเป็น 'สิ่งที่ต้องมี' ในงานเฉลิมฉลองต่างๆ ทั่วโลกไปแล้ว และนับวันความสวยงามและความหลากหลายของพลุ ก็มีมากขึ้นเติบโตควบคู่ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีการผลิตพลุที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

Forbes ชี้ว่า แม้เราทุกคนจะทราบดีว่าดอกไม้ไฟมีอันตรายสามารถนำมาซึ่งอุบัติเหตุและการเสียชีวิต แต่น้อยคนนักที่จะตระหนักได้ว่าปัญหาในระดับที่ใหญ่และครอบคลุมประชากรทั่วโลกจริงๆ นั่นคือความหายนะทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการจุดดอกไม้ไฟ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว

ดอกไม้ไฟคืออะไร?

จริงๆ แล้วดอกไม้ไฟ คือระเบิดขีปนาวุธขนาดจิ๋วที่สามารถระเบิดได้ในลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับการออกแบบ โดยสิ่งที่ระเบิดออกมาจะแตกตัวออกเป็นสีและรูปทรงต่างๆ แต่สิ่งที่ระเบิดกลายเป็นแสงที่สว่างจ้าสวยงามเหล่านี้คือต้นตอของหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นมลพิษ

สีสัน คือส่วนประกอบที่เป็นพิษ

สีสันที่ปรากฎออกมาจากการระเบิดของดอกไม้ไฟมาจากส่วนประกอบหลัก 6 อย่างคือสารออกซิไดซ์ สารรีดิวซ์ เชื้อเพลิง สารสีหรือเกลือโลหะ สารควบคุมความเร็วในการเผาไหม้ และสารยึดเกาะ ซึ่งสารทุกตัวต้องเกิดการระเบิดในเวลาและอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้ โดยเกลือโลหะ (Metal salts) ที่แตกต่างกันก็ให้สีที่ต่างกัน เช่น ลิเทียม (Li) ให้สีชมพู โซเดียม (Na) ให้สีเหลืองหรือส้ม คอปเปอร์ (Cu) และบาเรียม (Ba) ให้สีเขียวหรือฟ้า แคลเซียม (Ca) และสตรอนเชียม (Sr) ให้สีแดง เป็นต้น


ระหว่างการระเบิด เกลือโลหะจะไม่ได้เผาไหม้สลายไปจนหมด มันจะแตกตัวกลายเป็นโลหะอะตอมเล็กๆ แทน และมีปริมาณมากที่กลายเป็นละอองไอน้ำซึ่งส่งผลให้อากาศ น้ำ และดินกลายเป็นพิษทันที เมื่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษเหล่านี้กลับคืนเข้าสู่ร่างกายของเราทั้งจากการสูดดม การสัมผัสด้วยร่างกาย และการบริโภคผ่านอาหารและเครื่องดื่ม ร่างกายของคนเราก็จะมีการตอบสนองต่อสารพิษดังกล่าวซึ่งจะมีอาการแตกต่างกันไป ตั้งแต่การอาเจียน ท้องร่วง ไปจนถึงอาการหอบหืด โรคไต ทางเดินหายใจ สารพิษเข้าสู่กระแสเลือด กล้ามเนื้อหัวใจเป็นพิษ และมะเร็งชนิดต่างๆ เป็นต้น

ดอกไม้ไฟสร้างมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง AQI บางพื้นที่พุ่งแตะระดับ 500

ผลพวงจากการจุดพลุหรือดอกไม้ไฟที่ชัดเจนที่สุดคือการสร้างมลพิษทางอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 หรือบางทีอาจเล็กยิ่งกว่านั้น ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการวัดดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ Air Quality Index (AQI) ที่เราคุ้นเคยกันดี โดยมีระดับตั้งแต่ 0 - 500 หากตัวเลขของ AQI เกินกว่า 401 ขึ้นไปนั่นหมายถึงคุณภาพของอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายรุนแรงซึ่งสามารถกระทบสุขภาพของผู้คนอย่างหนัก

AFP - พลุ ดอกไม้ไฟ

Forbs ยกตัวอย่างกรณีของเทศกาลเทศกาลดิวาลี (Diwali) หรือเทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวฮินดู มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ในหลายประเทศ โดยเทศกาลดิวาลีที่จัดขึ้นที่ประเทศอินเดียล่าสุดเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมานั้นสร้างมลพิษอย่างหนักให้กับกรุงเดลี โดยหลังการจุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่พบว่าสถานที่สำคัญหลายแห่งในกรุงเดลีมีค่า AQI สูงกว่าระดับ 500

งานวิจัยพบว่าในการจัดแสดงดอกไม้ไฟ 1 งาน ระดับของสารสตรอนเชียมเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 120 เท่า แมกนีเซียมเพิ่มขึ้น 22 เท่า บาเรียมเพิ่มขึ้น 12 เท่า โพแทสเซียมเพิ่มขึ้น 11 เท่า และคอปเปอร์เพิ่มขึ้น 6 เท่า โดยเป็นการเปรียบเทียบกับระดับของสารต่างๆที่มีอยู่แล้วในอากาศก่อนที่จะมีการจุดดอกไม้ไฟ โดยสารเหล่านี้สามารถเดินทางในอากาศระดับปกติได้ไกลถึง 100 กิโลเมตรภายใน 2 วันเมื่อเคลื่อนที่ตามทิศเดียวกับลม


AFP - พลุ ดอกไม้ไฟ

บางสถานที่ของโลกอย่างในสวนสนุก Disneyland และ Disney World มีการจุดพลุเพื่อการแสดงเฉลี่ยครั้งละ 15 นาที เป็นจำนวน 230 ครั้งต่อปี โดยจะมีการยกเลิกโชว์ดอกไม้ไฟในช่วงที่อากาศไม่เหมาะสม และจากรายงานประจำปีเมื่อปี 2003 พบว่าสวนสนุกดิสนีย์ในสหรัฐฯใช้ดอกไม้ไฟในการแสดงไปทั้งสิ้น 40,800 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งทำให้สวนสนุกดิสนีย์คือผู้ที่ใช้ดอกไม้ไฟมากที่สุดในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นั่นคือตัวเลขของปี 2003 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขอาจสูงกว่านั้นมากในปัจจุบัน

ตัวเลือกของ 'ดอกไม้ไฟ' มีไหมที่ไม่เป็นพิษ?

สวิสเซอร์แลนด์เริ่มมาตรการ ลด-เลิก การจุดพลุเพื่อเฉลิมฉลองงานสำคัญประจำปี โดยเมืองบาเซิล เมืองที่มีประชากรเป็นอันดับ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศสและเยอรมนี เริ่มมาตรการลดการใช้ดอกไม้ไฟไปแล้วมากถึง 1 ใน 3 เพื่อเดินหน้าลดการสร้างมลพิษ และลดช่วงเวลาของการจุดพลุจาก 21 นาทีเหลือเพียง 16 นาที

ขณะที่นครซูริค เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ ด้วยการประกาศว่าในการจุดพลุเพื่อฉลองการนับถอยหลังเข้าสู่ปี 2020 ที่ผ่านมานั้นมีการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำจนเหลือ 0 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่หลายเมืองเช่น กรุงเบิร์น เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีการจุดดอกไม้ไฟเลย

ด้านรีสอร์ตในเซนต์มอริตซ์ เมืองสกีรีสอร์ทในเทือกเขาแอลป์ ใช้เทคโนโลยีอย่าง 'โดรน' 100 ร้อยตัวลอยขึ้นบนท้องฟ้า แสดงสีสันสวยงามหลากหลายแพตเทิร์นแบบ 3 มิติเหนือสกีรีสอร์ท ซึ่งเป็นการทดแทนการจุดดอกไม้ไฟแบบ 100 เปอร์เซ็นต์