กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง "ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. - 1 ต.ค. 2561)" ในช่วงวันที่ 29 ก.ย. – 1 ต.ค. 2561 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผลกระทบตามภาคต่าง ๆ มีดังนี้
ในช่วงวันที่ 29 -30 ก.ย. 2561
ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ
ภาคกลาง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ส่วนในวันที่ 1 ต.ค. 2561
ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ
ภาคกลาง บริเวณจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ นครปฐม สุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนแล้ว ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง
สทนช. เฝ้าระวังฝนตกเพิ่มขึ้นช่วงต้นเดือน ต.ค.
ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวว่า วันนี้ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 1 ต.ค. นี้ บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่ง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วเหลือเพียงบางจังหวัด เช่น นครนายกและนครศรีธรรมราช โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังเพื่อลดผลกระทบต่อเนื่องและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังด้วย เนื่องจากการวิเคราะห์แนวโน้มฝนที่จะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงแล้วจากปริมาณฝนที่ลดลง
สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำน้อย ทาง สทนช. ได้ทำหนังสือแจ้ง 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่เป็นผู้รับผิดชอบแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึง หนองบึง ที่มีความจุน้อยกว่าร้อยละ 60 รวม 53 อ่างเก็บน้ำ ในบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้ติดตามและสำรวจปริมาณน้ำเก็บกักปัจจุบัน หากมีน้ำน้อยและคาดว่าจะไม่เพียงพอในหน้าแล้งต้องพิจารณาแผนเก็บกักน้ำจากปริมาณฝนที่ตกลงในอ่างเก็บน้ำโดยตรง
พร้อมทั้ง ปรับลดการระบายน้ำและการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำช่วงที่คาดการณ์ฝนจะตกเพิ่มขึ้น พร้อมแจ้งประชาชนและเกษตรกรเตรียมเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำของตนเองเพื่อใช้ในหน้าแล้งด้วย