ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจการจ่ายโบนัส ประจำปี 2560 พบ ธุรกิจยานยนต์จ่ายสูงสุด เฉลี่ย 2.33 เดือน ขณะที่ผู้ประกอบการ เชื่อ โบนัสช่วยดึงดูดผู้หางาน และรักษาพนักงานเดิมเอาไว้ได้


บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เว็บไซต์หางานชั้นนำของเอเชีย เผยผลสำรวจอัตราการจ่ายโบนัสในประเทศไทย ประจำปี 2560 จากพนักงาน 2,020 คน และผู้ประกอบการเอกชน 322 องค์กร ทั่วทุกภูมิภาคในไทย ครอบคลุม 26 สายงาน ในกว่า 47 ประเภทธุรกิจ พบว่า โบนัสเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพนักงาน และเป็นแรงจูงใจในการย้ายงานของพนักงาน 

โดยร้อยละ 46 ของผู้ประการตระหนักว่าโบนัสเป็นเครื่องมีที่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจอยู่หรือไปของพนักงาน ขณะที่ ร้อยละ 47 เชื่อว่า โบนัสสามารถดึงดูดผู้หางานได้ โดยผู้ประกอบการและพนักงาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การจ่ายโบนัสโดยพิจารณาจากผลงาน เป็นตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นความพยายามและการทุ่มเทของพนักงาน และเป็นเทรนด์ที่หลายองค์กรจะเปลี่ยนมาใช้มากขึ้นจากแบบการันตี

สำหรับธุรกิจที่มีการจ่ายโบนัสสูงสุดประจำปีนี้ 5 อันดับแรก แบ่งเป็นแบบการันตี ได้แก่ 1. ธุรกิจยานยนต์ เฉลี่ย 2.33 เดือน 2. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 1.31 เดือน และ3. ธุรกิจบริการด้านการเงิน 1.16 เดือน แต่หากแบ่งเป็นการจ่ายแบบพิจารณาผลงาน อันดับยังคงเป็นธุรกิจยานยนต์ เฉลี่ย 2.14 เดือน 2. ธุรกิจด้านการเงิน 1.96 เดือน และ 3. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 1.26 เดือน ขณะที่อันดับ 4 และ5 ของทั้งสองประเภท เป็นธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม จัดเลี้ยง และธุรกิจไอที ตามลำดับ 

แต่หากเปรียบเทียบการจ่ายโบนัสกับปีก่อนหน้า (59 ) จะพบว่าอัตราการจ่ายในปีนี้ (60) ลดลงในทุกประเภทธุรกิจ ทั้งแบบการันตีและแบบพิจารณาผลงาน โดยปีนี้ธุรกิจเคมีไม่ติดอันดับ TOP 5 แต่ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาแทนที่

โดยตำแหน่งงานผู้บริหารระดับสูง ยังคงได้รับโบนัสมากที่สุด เฉลี่ย 2.17 เดือน ส่วนตำแหน่งพนักงานระดับเจ้าหน้าที่/ผู้เชี่ยวชาญ ช่างเทคนิค ได้น้อยที่สุด เฉลี่ย 1.35 เดือน พร้อมคาดโบนัสปี 2561 จะเพิ่มขึ้น จากสัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และเชื่อธุรกิจยานยต์ยังคงครองแชมป์

ส่วนแนวโน้มการใช้จ่ายโบนัส พบว่า ส่วนใหญ่ เลือกเก็บโบนัสไว้เป็นเงินออม จากนั้นจึงลงทุน ต่างจากคนรุ่นใหม่ GEN Z ช่วงอายุ 18-25 ปี ที่นำไปลงทุนก่อน เหลือจึงเก็บเป็นเงินออม 

นางสาวนพวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าตอบแทนแบบตัวเงิน เป็นองค์ประกอบหนึ่ง แต่ความก้าวหน้า ประสบการณ์ความท้าทายใหม่ๆ เป็นอีกปัจจัยสำคัญ โดยร้อยละ 78 ของพนักงาน ยินดีลาออกหากได้รับโอกาสงานที่ดีกว่าเดิม ดังนั้น นายจ้างควรส่งเสริมศักยภาพการทำงาน สร้างโอกาส และสวัสดิการต่างๆ เพื่อรักษาพนักงานไว้ ส่วนพนักงานต้องพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถอยู่เสมอเพื่อโอกาสงานที่ดีกว่าในอนาคต