นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธจะยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นรายประเทศให้กับประเทศไทย กรณีเหล็กและอลูมิเนียมนั้น อีไอซี ประเมินว่า เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะมีผลกระทบทางตรงต่ออุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียมไทยในวงจำกัด เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization) ภายในสหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวได้สูงมากนัก
นอกจากนี้ แม้ผู้ส่งออกไทยต้องเสียภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตราร้อยละ 25 และร้อยละ 10 ตามลำดับ ซึ่งดูเหมือนจะส่งผลโดยตรงให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการไทยลดลง และมีแนวโน้มที่จะทำให้สูญเสียตลาดส่งออกสหรัฐฯ ไป แต่ อีไอซีพบว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามอย่างเป็นทางการให้เรียกเก็บอัตราภาษีดังกล่าวในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ผู้ผลิตเหล็กในสหรัฐฯ ได้ปรับราคาขายเหล็กโดยเฉลี่ยในประเทศขึ้นแล้วกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเหล็กและอัตราภาษีที่ส่งออกจากไทย อีไอซี มองว่าราคาส่งออกจากไทยยังสามารถแข่งขันกับราคาเหล็กในสหรัฐฯ ได้
ส่วนผลกระทบทางอ้อม อีไอซี มองว่าผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศต่างๆ ที่ไม่สามารถนำเข้าสู่สหรัฐฯ มีโอกาสที่จะถูกส่งออกมาทำตลาดในไทย โดยเฉพาะเหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากรัสเซีย เหล็กเส้นจากตุรกี และลวดเหล็กจากจีน ที่ปัจจุบันไทยยังไม่มีการใช้มาตรการป้องกันทางการค้ากับผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กอื่นๆ เช่น ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บจากเกาหลีใต้ และเหล็กเคลือบจากเวียดนาม อีไอซี ประเมินว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ไหลเข้าไทยในปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากไทยมีการเรียกเก็บภาษีการทุ่มตลาด หรือ Anti Dumping อยู่แล้วในปัจจุบัน
"คาดว่าผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ปฏิเสธการยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมไทย จะไม่กระทบต่อประมาณการส่งออกในปี 2561" นายกณิศ กล่าว
พร้อมกับอธิบายปัจจัยสนับสนุนการประเมินว่า หนึ่ง แม้ผู้ประกอบการไทยจะถูกเรียกเก็บภาษี แต่ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นยังคงอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการไทยสามารถทำการแข่งขันได้ สอง แม้ผู้ประกอบการไทยจะสูญเสียตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ แต่ผู้ประกอบการไทยก็สามารถหาตลาดส่งออกอื่นๆ ทดแทนได้ เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กไปยังสหรัฐ สัดส่วนราวร้อยละ 17 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กทั้งหมดเท่านั้น
ทั้งนี้ ปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 4 แสนตัน และ 4 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่าราว 13,000 ล้านบาท และ 7,600 ล้านบาท หรือเพียง ร้อยละ 0.12 และร้อยละ 0.07 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยในปีดังกล่าว อีกทั้งปริมาณเหล็กและอะลูมิเนียมที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 และร้อยละ 10 ของปริมาณเหล็กและอะลูมิเนียมที่ส่งออกทั้งหมดจากไทย
"ดังนั้น โอกาสในการส่งออกเหล็กจากไทยสู่สหรัฐฯ ยังไม่ได้หมดไป แต่ผู้ประกอบการไทยควรหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อชดเชยปริมาณการส่งออกเหล็กสู่สหรัฐฯ หากผู้ผลิตเหล็กในสหรัฐฯ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้นในอนาคต"
สำหรับผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บที่ใช้ในงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสในการขยายตลาดไปยังฟิลิปปินส์และกัมพูชา ซึ่งมีปริมาณการนำเข้ารวมกันสูงถึง 2.4 แสนตัน ในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มการนำเข้าขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของภาคก่อสร้าง ขณะที่ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นเคลือบ อีไอซี มองว่าผู้ประกอบการควรพิจารณาหาโอกาสส่งออกไปยังเมียนมา และลาว ที่มีปริมาณนำเข้าในระดับสูงถึง 5 แสนตันต่อปี และมีความต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :