น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษามีมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีปัญหาการกระจายวัคซีนให้กับโรงพยาบาล แต่ในปี 2561 นี้ หลังจากมีปัญหาที่ สปสช.ถูกตรวจสอบว่าไม่สามารถทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะทำได้ดี ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ
แต่เนื่องจาก ถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ตรวจสอบว่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่อนุญาตให้ทำ จึงมีการแก้ไขปัญหาให้ รพ.ราชวิถีทำหน้าที่จัดซื้อแทน และให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดทำแผนความต้องการ และ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำหน้าที่กระจายยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งภาคประชาชนก็กังวลมาตลอดว่าจะมีปัญหาแน่นอน และสุดท้ายคนที่รับกรรมคือประชาชน
เมื่อถึงเวลาก็เป็นตามคาด โดยขณะนี้ ถึงช่วงที่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงแล้ว แต่การเปลี่ยนผู้จัดซื้อ ติดขัดกับระเบียบราชการมากมาย จึงทำให้วัคซีนยังกระจายไม่ถึงในโรงพยาบาลบางแห่ง เนื่องจาก รพ.ราชวิถี ติดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างจากกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่ออกมา จึงทำให้ยังไม่สามารถออกใบสั่งซื้อให้กับทาง อภ.ได้
"ขณะนี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีอยู่เต็มคลังของ อภ. ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. 2561 แล้ว เพื่อเตรียมที่จะกระจายให้ รพ.เพื่อเริ่มฉีดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา แต่เมื่อไม่มีใบสั่งซื้อจาก รพ.ราชวิถี จึงทำให้นำวัคซีนออกมาใช้ไม่ได้" น.ส.กรรณิการ์กล่าว
พร้อมกับระบุว่า เบื้องต้น รพ.ราชวิถีแก้ปัญหาโดยใช้วิธียืมวัคซีนจากทาง อภ.ก่อน แต่ อภ.ไม่สามารถให้ยืมได้อีก เนื่องจากก่อนหน้านี้ในรายการยาตัวอื่นที่ รพ.ราชวิถีจัดซื้อก็ใช้วิธียืมยาจาก อภ.มากกว่า 5 พันล้านบาทแล้ว ที่สุดใกล้ถึงช่วงเวลาจะฉีดวัคซีนให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ก็ยังกระจายวัคซีนให้ รพ.ไม่ได้
ส่วนคณะอนุกรรมการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่มี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติว่า อภ.ต้องยอมให้ รพ.ราชวิถียืมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปก่อนได้ จึงได้เริ่มกระจายวัคซีนให้ รพ.ไปรอบแรก ซึ่งยังมี รพ.หลายแห่งที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ที่น่าสงสัยคือทำไมปลัด สธ.ไม่รายงานตรงไปตรงมาว่ามีปัญหาอะไรจะได้ช่วยกันแก้ไข แต่ตอนรายงานความคืบหน้ากลับบอกไม่มีปัญหาตลอด
ทั้งที่ ปัญหาการยืมยาก็บอกว่าเคลียร์เรื่องระเบียบต่างๆ กับกรมบัญชีกลางแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่จริง พอแบบนี้ประชาชนไปรอฉีด แต่กลับไม่มีวัคซีนให้ ก็เสียหายไปหมด
อีกทั้ง จึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาในหลายพื้นที่ ที่ประชาชนที่เป็น 7 กลุ่มเสี่ยงไปขอรับวัคซีนแต่วัคซีนยังมาไม่ถึง รพ. จะเห็นว่าเรื่องนี้สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน จากการตรวจสอบ ระเบียบราชการ และกฎหมายที่ออกมาโดยไม่คำนึงถึงหลักปฏิบัติที่เป็นจริง
ส่วนในที่ประชุมบอร์ด สปสช. กรรมการที่เป็นตัวแทนภาคประชาชน ได้ถามย้ำทุกครั้งว่าจะมีผลกระทบเสียหายกับประชาชนหรือไม่ หากเปลี่ยนผู้ทำหน้าที่จัดซื้อ ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่มีแน่นอน แต่สุดท้ายก็มี และคนที่รับผลกระทบหนักคือประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่หน้างาน
อ่านเพิ่มเติม