นางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นธุรกิจให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดในแพลตฟอร์มเดียว 3 ช่องทาง ได้แก่ ตู้บล็อกเชน (Blockchain Kiosk), เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ซึ่งที่ผ่านมา ได้ระดมทุนผ่าน ICO หรือ Initial Coin Offering ซึ่งในรอบพรีเซลเมื่อวันที่ 25 ม.ค.-13 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับดีมาก เพราะออกมาเพียง 1 ล้านเหรียญโทเคน
ขณะที่ บริษัทวางแผงระดมทุนผ่าน ICO หรือ การเสนอขายดิจิทัลโทเคนบนเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อระดมทุนสำหรับการดำเนินกิจการทั้งสิ้น 1,000 ล้านโทเคน แบ่งเสนอขายให้นักลงทุนทั่วไป 70% ในอัตรา 1 โทเคน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเสนอขายทั้งหมด 10 รอบ รอบละ 70 ล้านโทเคน ซึ่งการระดมทุนผ่าน ICO รอบแรกจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ก.พ. - 30 มิ.ย. โดยผู้ลงทุนจะได้รับเหรียญ TTPC (Tuk Tuk Pass Coin) ซึ่งจะเป็นสิทธิให้นักลงทุนได้รับโทเคนเพื่อนำไปใช้จ่ายในการรับบริการของตุ๊กตุ๊กพาสแทนเงินสดได้อีกทอดหนึ่ง
ส่วนบริษัท จะนำโทเคนหรือเงินดิจิทัลที่ได้รับจากการระดมทุนครั้งแรกนี้ ไปเปิดตัวแพลตฟอร์มการให้บริการของ ตุ๊กตุ๊กพาสใน 10 เมือง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมการให้บริการและเข้าถึงนักท่องเที่ยวกว่า 109.92 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และคาดว่าจะขยายครอบคลุม 100 ประเทศ ภายในปี 2565 เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว 45% ของทั้งโลก หรือประมาณ 555 ล้านคน เป็นโอกาสให้ธุรกิจต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม นางสาวปรางพิสุทธิ์ ให้ความเห็นถึงความกังวลของฝ่ายกำกับดูแลทั้งตลาดทุนและตลาดเงินของไทย ในกรณีขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ไม่ให้รับแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี ว่า อันดับแรก บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด จดทะเบียนในฮ่องกง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์ในฮ่องกงแล้ว โดยผ่านการให้คำปรึกษาของสำนักงานทนายความ HWB ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องกังวลกับข้อบังคับจากทางการไทย
"ไอซีโอเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง คือ ด้านหนึ่งเปิดทางให้คนมาหลอกลวงเอาเงินประชาชนไป แต่อีกด้านจะสนับสนุนคนที่มีไอเดียแล้วสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพราะมีไอซีโอ ดังนั้น คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจลงทุนผ่านไอซีโอ คือให้ดูที่ทีมงาน โครงการ และคณะที่ปรึกษาของโครงการนั้นๆ ด้วย" นางสาวปรางพิสุทธิ์กล่าว
(ปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด)
ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเหรียญโทเคน บริษัทได้จับมือกับบริษัท วีซ่า อินเตอร์เนชั่นนัล ออกแคช การ์ด ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ได้รับ TTPC ที่ได้รับจะเข้ามาในวอลเลต หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ลงทุนก็สามารถแปลงเหรียญนี้เข้าไปในบัตรที่บริษัทจับมือทำกับวีซ่า ซึ่งจะทำให้มีเงินดิจิทัลในบัตรแล้วนำไปใช้จ่ายชำระเงินซื้อบริการต่างๆ ของที่บริษัทมีให้ได้
ทั้งนี้ ตุ๊กต๊ก พาส เป็นธุรกิจท่องเที่ยวแห่งแรกที่เปิดระดมทุนผ่าน ICO และออกนโยบาย Token call Option ทำให้นักลงทุนในรอบแรก มีสิทธิ์ซื้อเหรียญในรอบต่อๆ ไปในราคาเดิม (ราคารอบแรก) ไม่ถูกปรับราคาขายตามมูลค่าของโทเคนในตลาด และได้รับผลตอบแทนเป็นค่าประมวลเน็ตเวิร์กที่เกิดจากธุรกิจบนแพลตฟอร์มของตุ๊กตุ๊กพาส ซึ่งจะจัดสรรให้ทุกไตรมาส 4 ของทุกปี ในรูปแบบเหรียญ TTP-C และนักลงทุนสามารถนำไปใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มของตุ๊กตุ๊กพาส ลดปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศได้
นอกจากนี้ ตุ๊กตุ๊ก พาส ยังมีเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับธุรกิจในท้องถิ่นผ่านระบบ API (Application Programming Interface) เพื่อให้ผู้ใช้มีความสะดวกในการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดในแพลตฟอร์มเดียว (Seamless User Experience) และทำให้ธุรกิจในท้องถิ่นได้รับลูกค้าใหม่ ๆ มากขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มให้นักท่องเที่ยวได้รับประโยชน์จากชุมชนการท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างคอมมูนิตี้เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว เช่น เปิดให้นักท่องเที่ยว บุคคลทั่วไป (ไม่ใช่นักลงทุน) เข้ามาเขียนรีวิวได้ ก็จะได้รับคะแนนเป็นเหรียญโทเคนใช้แลกบร��การการท่องเที่ยวสำหรับการเดินทางครั้งต่อไปได้
อดีตผู้ว่า ธปท. ชี้ 4 ความเสี่ยงผลิตภัณฑ์เงินดิจิทัล
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัลว่า ประชาชนต้องแยกแยะระหว่างการพัฒนาทางเทคโนโลยีการเงิน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งในส่วนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัล โดยส่วนตัวแล้ว ตนไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ในลักษณะคริปโตเคอเรนซีที่มีลักษณะเหมือนกับบิทคอยน์ เพราะอาจจะทำให้เกิดกรณีที่คนเข้าไปลงทุนที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง เกิดความเสียหายได้
อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ มีความเสี่ยง 4 ด้าน ได้แก่ 1) ความเสี่ยงในการที่ไม่รู้ว่ามีอะไรเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง 2) โครงสร้างการบริหารว่าใครเป็นผู้ถือครองหรือจัดการอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง 3) ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มการจัดการสกุลเงินดิจิทัล และ 4) การบริหารจัดการทางการเงินของสกุลเงินนั้นๆ
ดังนั้น กรณีที่ ธปท.ได้ออกหนังสือเตือนไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ไปยุ่งเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลถือว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ถูกต้องแล้ว เพราะสถาบันการเงินต้องดูแลรับผิดชอบเงินฝากของประชาชนจำนวนมากและเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม จึงยังไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเงินดิจิทัล