ไม่พบผลการค้นหา
กลับมาอีกแล้วกับแอปฯ เกมในเฟซบุ๊ก ที่ให้ผู้ใช้กดเข้าไปเล่น แล้วทายนิสัยจากชื่อเฟซบุ๊กว่าบุคคลนั้นเป็นอย่างไร แต่ถ้าลองเช็คให้ดีจะรู้ว่าแอปฯที่กำลังระบาดอยู่ในตอนนี้ จะเข้าไปเก็บข้อมูลที่เป็นส่วนตัวของผู้ใช้

ขณะนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยกำลังฮิตเล่นแอปพลิเคชันเกมที่มีชื่อว่า 'OMG' ที่ผู้เล่นเพียงกดเล่น แล้วทางแอปฯ จะนำชื่อเฟซบุ๊กของบุคคลนั้นไปประมวลผล เพื่อทายนิสัยว่าบุคคลนั้นมีนิสัยเป็นอย่างไร ซึ่งถ้ามองเผินๆ จะคิดว่าเป็นแอปฯ เกม ไว้เล่นขำๆ คลายเครียดได้ แต่ถ้าลองคลิกเข้าไปดูในหน้าการจัดการของแอปฯ ที่ว่านี้ในเฟซบุ๊กของทุกคนดูแล้วจะพบว่า แอปฯ OMG จะเข้าถึงข้อมูลเฟซบุ๊กของผู้ใช้ตามที่ผู้ใช้กรอกไว้ตอนลงทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์, อีเมล, ที่อยู่ และรายชื่อเพื่อนในเฟซบุ๊ก เป็นต้น




1.jpg

หน้าตัวอย่างของแอปฯ OMG

และผลที่อาจตามมาคือ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก อาจถูกนำข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นไปแอบอ้างทำกิจกรรมต่างๆ โดยที่เจ้าของจริงไม่อาจล่วงรู้ตัวได้ 

ก่อนหน้าแอปฯ OMG มีแอปฯ vonvon เข้ามาฮิตในกลุ่มผู้เล่นโซเชียลคนไทยจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีหลายคนออกมาเตือนแล้วว่า แอปฯ เหล่านี้จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวพื้นฐานที่ตั้งเป็นสาธารณะ เช่น รูปโปรไฟล์, รายชื่อเพื่อน, โพสต์บนไทม์ไลน์, สถานะ, ข้อมูลครอบครัว, ข้อมูลการไลค์, และรูปภาพทั้งหมด



3.jpg

ตัวอย่างแอปฯ ในเฟซบุ๊กที่ผู้ใช้ต้องร่วมแบ่งปันข้อมูลด้วย


ด้าน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สพธอ. หรือ เอ็ตด้า ได้ออกมาเตือนแล้วว่า เกมทายใจ เกมทายนิสัยจากชื่อ ระวังข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลด้านการเงิน เล่นได้แล้วแค่สนุก แต่อาจจะมีทุกข์ตามมา เล่นแล้วลบ เล่นแล้วลบแอปฯ นั้น ทางที่ดีอย่าเล่นดีกว่า


วิธีลบแอปพลิเคชันเหล่านี้ออกจากเฟซบุ๊กผู้ใช้ตามคำแนะนำจากเฟซบุ๊ก Help Center คือ

1. ล็อกอินเข้าเฟซบุ๊ก แล้วกดที่ลูกศรด้านขวามือ

2. คลิกการตั้งค่า (Setting)

3. คลิกที่ แอปฯ และเว็บไซต์ (Apps and Websites) ที่อยู่ทางซ้ายมือ

4. จะมีฟิลเตอร์ระหว่าง ใช้งานอยู่ (Active) , หมดอายุแล้ว (Expired) และ ลบออกแล้ว (Removed) อยู่ทางด้านบน หาแอพหรือเว็บไซต์โดยใช้แถบค้นหาที่ด้านขวา

5. หากต้องการลบแอปฯ หรือเว็บไซต์ออก ให้เลือกแอปฯ หรือเว็บไซต์ จากนั้นคลิก “ลบออก” > “ลบออก”

ทั้งนี้ เคยมีรายงานจากมาร์เก็ตวอทช์ ว่า การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้เกิดขึ้นกับเฟซบุ๊กเป็นครั้งแรกเฟซบุ๊กเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2556 ระบบ 'แนะนำเพื่อน' ที่เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาในขณะนั้น ได้เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ อีเมลและเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้ใช้กว่า 600,000 คนสู่สาธารณะ แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น เป็นการเข้าถึงข้อมูลที่ลึกมากกว่านั้น ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล/ อีเมล/ เบอร์โทรศัพท์ / รหัสผ่าน/ สถาบันการศึกษา/ แนวคิดทางการเมือง/ งานอดิเรก/ ความสนใจที่มีต่อกิจกรรมต่างๆ/ สมาชิกครอบครัว/ บันทึกกิจกรรมในโลกไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงประวัติการเข้าชมเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ/ ไอพีแอดเดรส/ สถานที่ที่ไปเป็นประจำ

ข้อมูลเหล่านี้มักจะถูกนำไปขายในเว็บไซต์เข้ารหัสที่เปรียบได้กับ 'ตลาดมืด' ของเหล่าแฮกเกอร์หมวกดำและมิจฉาชีพอื่นๆ ที่สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้สร้างประโยชน์แก่ตัวเอง และราคาของข้อมูลแต่ละประเภทก็จะแตกต่างกัน เช่น ข้อมูลที่ใช้ในการล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กจะอยู่ที่ประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 165 บาท) ต่อ 1 บัญชี

ขณะที่ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดจะขายได้ตั้งแต่ 50-1,200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,650-39,600 บาท) โดยจะจำแนกตามสถานะทางสังคม เช่น ข้อมูลของนักศึกษาฐานะปานกลาง ขายได้ประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ข้อมูลของผู้สูงอายุที่มีเงินบำนาญก้อนใหญ่ในธนาคารก็อาจจะขายได้ราคาดีกว่า และข้อมูลคนมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ขายได้ถึง 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง