ไม่พบผลการค้นหา
หนังสือชีวประวัติของผู้นำทางการเมือง เป็นหนึ่งในอาวุธเพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ ชีวประวัติลุงกำนันสุเทพ มีบทหนึ่งเล่าถึงการเจรจาลับระหว่าง ลุงกำนัน-นายกฯ ยิ่งลักษณ์” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์” เป็นคนกลาง จะเชื่อปากคำสุเทพได้หรือไม่ – ไม่สำคัญเท่ากับ สุเทพ รื้อ-สร้างภาพตัวเอง ผ่านบทบันทึกชิ้นนี้

ร้านขายหนังสือเก่า มักมีหนังสือการเมืองมาขายแบบลดราคาอยู่เสมอ ชีวประวัติของ “ลุงกำนัน- ล้มเลือกตั้ง” ซึ่งบัดนี้ กลายมาเป็น “นักการเมืองในพรรครวมพลังประชาชาติไทย-ที่หวังชนะเลือกตั้ง” เป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้พบที่ร้ายขายหนังสือเก่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ตัวเล่มลดราคาลงไปมากกว่าครึ่ง

 “หนังสือ The Power of Change : กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ บุรุษจากท่าสะท้อนสู่การต่อสู้บนท้องถนนกับกบฏนกหวีด” เป็นหนังสือที่เก็บบทสัมภาษณ์ลุงกำนันระหว่างการชุมนุม กปปส. ประธานที่ปรึกษาในการผลิตของหนังสือเล่มนี้คือ “ศักดิ์ชัย กาย” บรรณาธิการที่ปรึกษาคือ “อัญชะลี ไพรีรักษ์” เธอยังทำหน้าที่เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ร่วมกับนักเขียนอีกสองท่านคือ “ภัทรชัย ภัทรมน” “ศรศมน บัวจำปา”

“ปอง อัญชะลี” บรรยายไว้ในคำนิยมของเธอว่า “เราใช้เวลา 10 วัน วันละ 5 ชั่วโมง คุยและเลือกภาพใน ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก และคับแคบ ตั้งอยู่ท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้ใบหญ้า คลุมด้วยตาข่ายสีเขียวผืนใหญ่กันระเบิด อื้ออึงด้วยเสียงอึกทึกจากเวทีปราศรัยในสวนลุมพินีที่เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานในวันมีหมายจับข้อหากบฏถึงสองครั้ง”

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 38 บท ใช้โครงเรื่องอยู่สามเส้น – เส้นแรกคือ ความพยายามในการถอยกลับไปศึกษาชีวิตและการสร้างตัวตนของสุเทพ เส้นที่สองคือ การถ่ายทอด ประสบการณ์ทางการเมือง ในบทนี้ สุเทพถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ บทที่ว่าด้วย “สร้างปาฏิหาริย์เปลี่ยนขั้วการเมือง” ดูดเนวิน จนสามารถสร้าง “อภิสิทธิ์” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย

อีก 6 บทในเส้นเรื่องนี้ก็น่าสนใจมากเพราะอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุเทพกับ “กองทัพ” โดยเฉพาะต่อ “พลเอกประวิตร-พลเอกอนุพงษ์” ได้ดีว่าแนบชิดเพียงใด ในระดับที่แม้เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองใหญ่หลวง หลังการปราบปรามคนเสื้อแดง รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอยู่เสมอ

เส้นเรื่องสุดท้าย คือ ที่มาก่อนจะเป็น “ลุงกำนัน ของ มวลมหาประชาชน” ,เหตุการณ์ระหว่างการชุมนุม 204 วัน และปิดท้ายที่ทิศทางการปฏิรูปประเทศโดยมวลมหาประชาชน เป้าหมายสำคัญของเส้นเรื่องนี้ก็เพื่อสร้างมรดกทางการเมืองของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ต่อสังคมการเมืองไทย ผ่านการชุมนุม กปปส. ซึ่งนำไปสู่ “การปฏิรูปประเทศ” ในที่สุด

หนังสือชีวประวัติเล่มนี้เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด ? – ชีวิตของผู้นำทางการเมืองดำเนินไปเช่นนี้อยู่เสมอ ดำเนินไปโดยพยายามชี้ให้เห็นมรดกทางการเมืองของตัวเองอยู่เสมอ

ไฮไลต์จุดเด่น และกลบจุดด้อย หรืออธิบายจุดด้อยใหม่ให้ชอบธรรมกว่าเดิม ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าเดิม   เข้าข่ายว่า “โฆษณาชวนเชื่อดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” แม้ว่าเบื้องหลังจะเลอะเทอะขนาดไหนก็ตาม โดยเฉพาะ ชีวิตลุงกำนัน ซึ่งทั้งล้มเลือกตั้ง-มุ่งสถาปนาการเมืองของคนดี ซึ่งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ทั้งในระยะสั้น-ในระยะยาว

อายุอันยืนยาวของ คสช. ที่ล่วงเลยมา 4 ปีแล้ว เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่ชัดเจนถึงความเลอะเทอะของสุเทพ

ชีวประวัติ ยิ่งเขียนดี รื้อภาพเก่าได้ สร้างภาพใหม่ได้ ยิ่งสำเร็จมาก – ยิ่งดี       

ยิ่งซ่อมแซมความชอบธรรมทางการเมืองที่สึกหรอไปได้มากเท่าไหร่ – ยิ่งดี

ยิ่งใช้ “ชีวประวัติใหม่” ทำลายศัตรูทางการเมืองได้มากเท่าไหร่ – ยิ่งดี

ชวนอ่านบทที่ 37 ของหนังสือชีวประวัติเล่มนี้ ว่าด้วย การเจรจาลับระหว่าง “สุเทพ – ยิ่งลักษณ์ – ผบ.เหล่าทัพ” ไปพร้อมกัน

การเจรจาลับครั้งนั้น เกิดขึ้นที่ “กรมทหารราบที่ 1” หลังจากการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินผ่านไปสักระยะหนึ่ง เวลานั้นสุเทพปักหลักชุมนุมที่เวทีศูนย์ราชการ ค่ำคืนนั้นเป็นการเจรจาสองฝ่าย คือ แกนนำ กปปส.กับนายกรัฐมนตรีขณะนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการเจรจาต่อหน้า “ผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา-พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง และพลเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย”

สุเทพ เปิดประเด็นว่า – “พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้เริ่มติดต่อประสานงานให้สุเทพไปพบกันยิ่งลักษณ์” โดยใช้เหตุผลว่า “อยากเห็นปัญหาบ้านเมืองคลี่คลายด้วยการเจรจา...โดย ผบ.ทั้งสามเหล่าทัพจะนั่งฟังเป็นสักขีพยาน” 

สุเทพ เล่าถึง “บทสนทนา” หลายบทหลายตอน ในวงเจรจาวันนั้น แน่นอนว่า “ไม่อาจเชื่อได้ 100 ทั้ง 100” แต่ “ฟังไว้ไม่เสียหาย” แต่ต้องฟัง และต้องอ่าน โดยตั้งคำถามกับระหว่างบรรทัดของบันทึกลับนี้อยู่เป็นระยะ เช่น สุเทพเขียนเล่าบทสนทนาแบบนี้ ด้วยเหตุผลใด ? พยายามสร้างภาพให้ตัวเองเป็นคนอย่างไร และทำให้เห็นว่า นายกยิ่งลักษณ์ เป็นคนอย่างไร ? ไปจนถึงเห็นว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลาย คิดอย่างไรต่อปมขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ?

สุเทพ – “ผมได้เริ่มต้นบอกกับคุณยิ่งลักษณ์ว่า รัฐบาลได้กระทำการที่ไม่ถูกต้อง ไม่เคารพหลักกฎหมาย ไม่ถูกหลักนิติธรรม ไม่ฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการนำเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม เมื่อประชาชนมาชุมนุมคัดค้านก็ยังไม่ฟังเสียงของประชาชนอีก ประชาชนจึงไม่ต้องการให้คุณยิ่งลักษณ์บริหารประเทศต่อไป ขอให้คุณยิ่งลักษณ์ออกไปจากตำแหน่ง และจะมีการตั้งรัฐบาลคนกลางที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้นมาเป็นนายกฯ และคณะรัฐบาลคนกลางจะทำหน้าที่บริหารประเทศเพียงในระยะสั้นๆ เพื่อการปฏิรูปประเทศเท่านั้น”

นอกจากการเสนอข้อเรียกร้องเรื่อง “นายกคนกลาง” สุเทพยังเสนอว่าจะต้อง – “จัดให้มีสภาประชาชน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อว่ารัฐบาลเฉพาะกิจนี้จะได้อาศัยสภานี้แก้ไขกฎหมายและกฎกติกาต่างๆ ให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปประเทศที่มวลมหาประชาชนได้กำหนดไว้”

สุเทพ เล่าด้วยว่า ระหว่างการเจรจา อดีตนายกหญิงได้ถามสุเทพกลับว่า – “คุณยิ่งลักษณ์ก็ได้ถามถึงหลักเกณฑ์และกฎหมายที่จะมารองรับว่า แล้วเธอจะออกจากตำแหน่งได้อย่างไร มีกฎหมายอะไรมารองรับ ออกไปแล้วคนที่มาใหม่จะทำได้อย่างไร”

ต่อคำถามนี้ สุเทพอธิบายว่า – “ผมได้ชี้แจงไปว่าประเด็นเหล่านั้น คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องกังวล รัฐบาลที่จะตั้งขึ้นใหม่เขาจะทำอะไร ไม่ใช่เรื่องของคุณแล้ว ขอเพียงให้คุณยิ่งลักษณ์ออกไปจากตำแหน่ง ประชาชนก็ได้อำนาจคืนไปเป็นของประชาชนตามกฎหมาย

รัฐธรรมนูญมาตรา 3 ถือเป็นการทวงอำนาจอธิปไตยของประชาชนกลับคืนมา เพราะที่ผ่านมาประชาชนได้มอบอำนาจอธิปไตยให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว แต่กลับไม่ใช้อำนาจอธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชน การบริหารงานไม่เป็นไปตามที่ได้รับมอบหมาย และยังทรยศต่อประชาชนอีกต่างหาก การที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ตรากฎหมายนิรโทษกรรมโดยผิดหลักนิติธรรม ไม่เคารพหลักการแห่งกฎหมายที่ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศกันโดยทั่วไป จึงไม่มีความชอบธรรมในทางกฎหมายอีกต่อไป และไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองแล้วด้วย ถ้าคืนอำนาจกลับมาประชาชนก็จะได้ร่วมกันดำเนินการปฏิรูปประเทศซึ่งหลังจากนั้นคุณยิ่งลักษณ์ก็จะกลับมาสู่การเมืองก็สามารถกระทำได้”

สุเทพบรรยายว่า เมื่อนายกยิ่งลักษณ์ได้ฟังข้อเสนอ – “ยิ่งลักษณ์ยังคงแสดงสีหน้าตกใจเล็กน้อยและร้องถามย้ำว่า จะทำได้หรือ มีกฎหมายไหนมารองรับ” สุเทพย้ำว่า “สามารถกระทำได้โดยเฉพาะตามมาตรา 3 และมาตรา 7 แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่เมื่อถึงช่วงเกิดสุญญากาศทางการเมือง ฝ่ายวุฒิสภาสามารถดำเนินการกราบบังคมทูลเสนอชื่อบุคคลขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้”

สุเทพ – “ในวันนั้นคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ตอบอะไรมาก นอกจากบอกในที่สุดว่า ขอเวลาคิดดูก่อน แล้วถามว่าหลังจากการพบกันครั้งนี้จะมีการพบกันอีกหรือไม่ ซึ่งผมได้บอกไปว่า คุณจะคิดนานเท่าไหร่ก็ได้ แต่การพบครั้งนี้จะเป็นครั้งเดียว เพราะผมเองไม่ได้มาต่อรองอะไร แค่มาบอกถึงสถานการณ์และทางออกเท่านั้นว่า คุณยิ่งลักษณ์ไม่สามารถจะอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป"

สุเทพ ยังเล่าถึงท่าทีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งนั่งเป็นคนกลางในวันนั้นว่า – “ผบ.ทบ.ได้กล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า ในนามของผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลาย พวกผมทำตัวลำบากครับ เหมือนกับมีนายสองคน คนหนึ่งคือนายกรัฐมนตรี ที่ยังอ้างว่ายังเป็นนายกฯ ที่มีอำนาจอยู่ อีกคนเป็นตัวแทนประชาชน ที่ยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเพราะรัฐบาลหมดความชอบธรรมไปแล้ว ผมจึงไม่เข้าข้างใคร จุดยืนของผมอยู่ข้างประเทศไทย”

สุเทพปิดท้ายก่อนลุกออกจากวงว่า – [ในตอนท้าย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ร้องขอว่า ขอให้การพบปะกันครั้งนี้เป็นความลับ ไม่ต้องบอกใคร ซึ่งสุเทพปฏิเสธทันทีโดยโต้กลับไปว่า “ผมทำงานกับประชาชน ผมต้องเปิดเผย ผมจะไม่พูดคุยอะไรให้เสียหาย แต่จะพูดความจริงเท่านั้น” ]

ทั้งหมดนี้ คือ บทสัมภาษณ์แบบ “คำต่อคำ” จากปากของ “ลุงกำนันสุเทพ” ถึงการเจรจาลับกับ “นายกหญิง” โดยมี “กองทัพ” นั่งเป็นคนกลาง

เท่าที่อ่านตอนนี้ จะพบว่า “สุเทพ สู้สุดใจเพื่อรักษาธรรมาธิปไตย” โดยการเอาดีเข้าตัวเอง เอาชั่วใส่คนอื่นเป็นระยะในระหว่างบรรทัดของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ โดยเฉพาะการอ้างว่า “รัฐบาลหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศ” เป็นการพูดราวกับว่า “กปปส.” คือ “เสียงส่วนใหญ่ในประเทศ” ทั้งที่จริงในเวลานั้น ถ้า กปปส.ไม่ล้อม-ปิดคูหา เพื่อล้มเลือกตั้ง แล้วปล่อยให้การเลือกตั้งดำเนินต่อไป ผลการเลือกตั้งอาจตอกหน้าสุเทพเข้าให้ก็ได้  และการรัฐประหาร รวมถึงการปฏิรูปประเทศแบบทีเล่นทีจริง คงไม่เดินมาไกลถึงเพียงนี้

ที่กำนันสุเทพเล่า

          จะจริงหรือไม่จริง – ต้องรอให้ “ยิ่งลักษณ์” เล่า

          จะจริงหรือไม่จริง – ต้องรอให้ “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” เล่า

          “เล่า” เพื่อตรวจสอบ “ปากคำลุงกำนันสุเทพ”

          “เล่า” เพื่อค้นหาความจริงในวงเจรจา ถ้าบิดพลิ้วไปจากนี้ จะถือเป็นการ “ตระบัดสัตย์” ซ้ำอีกหน ของคน “ตระบัดสัตย์” มาแล้วหลายหน

           ผู้ใหญ่ว่าไว้ “อย่าไว้ใจชีวประวัตินักการเมือง” ให้อ่านไปด้วย ตรวจสอบไปด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวประวัติ เป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญของสนามการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ทุกแคมเปญการเลือกตั้ง ต้องสร้าง เพื่อชะล้าง “นักการเมือง หรือ ผู้นำทางการเมือง” ให้สะอาด!!



วยาส
24Article
0Video
63Blog