ไม่พบผลการค้นหา
กรมอนามัย วางแผนยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกปี 2563 ให้ลดต่ำกว่าร้อยละ 1 พร้อมเน้นการเข้ารับการบริการปรึกษาแบบคู่ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับหญิงตั้งครรภ์และสามี

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้วางแผนการดำเนินงานการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก โดยตั้งเป้าให้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2563 ภายใต้การสนับสนุนให้สถานบริการสาธารณสุขทุกเครือข่ายทั่วประเทศ จัดบริการ ปรึกษาแบบคู่ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับหญิงตั้งครรภ์และสามี (Couple counseling) ทั้งก่อนและหลังการตรวจหาเชื้อเอชไอวีแก่หญิงตั้งครรภ์และสามีอย่างมีคุณภาพมากกว่าร้อยละ 60 และเก็บผลการตรวจเป็นความลับอย่างเคร่งครัด โดยแจ้งให้ทราบเฉพาะบุคคลและผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอนุญาตเท่านั้น

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับการรักษา ด้วยยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์สูง (Highly Active Antiretroviral Therapy: HAART) เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสเมื่อแรกเกิด อีกทั้งได้รับนมผสมสำหรับเลี้ยงทารก และได้รับการตรวจวินิจฉัยหา การติดเชื้อเอชไอวีตามมาตรฐานการดูแลรักษาของกระทรวง การส่งเสริมสุขภาพและการติดตามการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก ในปี 2559 ที่สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกต่ำกว่าร้อยละ 2 และสามารถที่รักษาคุณภาพการดำเนินงาน โดยได้รับการประกาศรับรองคุณภาพต่อเนื่องในเวทีการประชุม Global validation Advisory committee ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าประเทศไทยจะสามารถยุติเอดส์จากแม่สู่ลูกได้ภายในปี 2573 ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติในการป้องกันและแก้ปัญหาเอดส์

นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานสนับสนุนทางด้านวิชาการระดับสากล เน้นการป้องกันการติดเชื้อในหญิงวัยเจริญพันธุ์ การดูแลรักษาที่เป็นมิตร การใช้ข้อมูลและความรู้ในการพัฒนางาน ส่งผลให้ปี 2561 กลุ่มเป้าหมายได้สิทธิในการดูแลด้านการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อทารกแบบรวดเร็ว (Early Infant Diagnosis ) เมื่อแรกเกิด 1 เดือน และ 2 เดือน และการได้รับยาต้านไวรัสเพิ่มเติมในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มาฝากครรภ์ช้า ทำให้อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกลดลงในปี 2560 ร้อยละ 1.79 และในปี 2561 มีร้อยละ 1.68