“ไม่ยอมรับก็หมาแล้ว” เป็นคำพาดหัวที่อ้างอิงมาจากนักร้องเพื่อชีวิตท่านหนึ่ง ที่ยอมรับแมนๆ (มั๊ง?) หลังโดนนักข่าวรุมถามถึงเหตุการณ์ยำแฟนคลับจนเป็นข่าวอื้อฉาว ตอนแรกที่เห็นพาดหัวก็นึกว่านักข่าวเขียนเว่อร์ไป พอได้ฟังสัมภาษณ์เต็มๆ ถึงได้ยินว่าเฮียแกพูดจริงๆ แถมตอนเน้นคำว่า “หมา” ก็ดูอารมณ์มาเต็ม ไม่รู้โกรธอะไรระหว่างคู่กรณี นักข่าว หรือตัวเอง
คำว่า “หมา” ในบริบทของเฮียดูเหมือนว่าจะหมายถึง “ความไม่มีศักดิ์ศรี” ประมาณว่าถ้าไม่ยอมรับก็ไม่แมน นี่ถือเป็นหนึ่งในความหมายแง่ลบของคำว่า “หมา” นอกจากนี้ ยังมีการพลิกแพลงแสลงเป็นคำด่าได้อีกหลายประการ เช่น “ใจหมา” ให้อารมณ์ใกล้เคียงกับคำว่า “เหี้ย”, “ชาติหมา” หมายถึงคนชั่ว, “สันดานหมา” หมายถึงนิสัยเลว, “ปากหมา” พูดจาน่าโดน, “นั่งเป็นหมาเหงา” อธิบายถึงพวกตอนกร่างได้ใจ พอถูกจับได้ทำหน้าหงอย ฯลฯ ซึ่งน่าคิดเหมือนกันว่าทำไมเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ ถึงถูกนำมาด่าสาดเสียเทเสียแบบนี้ “หมาผิดอะไร?” และ “ทำไมต้องด่าหมา?”
หากย้อนไปในยุคบรรพกาล มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ยังชีพด้วยการล่าสัตว์ สังคมนักล่านั้นการมีบั๊ดดี้ช่วยได้มาก ดังนั้น “หมา” จึงกลายเป็นคู่หูทำหน้าที่ติดตามแกะรอย ดมกลิ่น ระวังหลัง ฯลฯ ด้วยบทบาทสำคัญเยี่ยงนี้จึงทำให้หมาได้รับเกียรติไม่น้อย ถึงขนาดภาพเขียนสีในหลายวัฒนธรรมต้องมีภาพหมาจารึกอยู่กับเหล่านักล่าด้วย
เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านจากการล่าสัตว์เร่ร่อน เป็นสังคมเกษตรที่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักเป็นแหล่ง หมาก็ยังคงมีสถานะสำคัญ ในบางวัฒนธรรมยกย่องว่าเป็นสัตว์ให้คุณแก่มนุษยชาติ เช่น ตำนานของเผ่าจ้วง ในมณฑลกวางสี เล่าถึงหมา 9 หาง ขึ้นไปขโมยข้าวบนสวรรค์มาให้มนุษย์ ขากลับต้องหลบหนีจากเหล่าเทพจนหางขาดไป 8 หาง ทว่า หางที่เหลือหางเดียวนั้นก็ติดเมล็ดข้าวมาจำนวนหนึ่ง พอให้มนุษย์ได้ทำพันธุ์ปลูกข้าวกินกันมานับแต่นั้น โดยทุกวันนี้ชาวจ้วงบางท้องที่ยังคงมีรูปปั้นหมาและทำการเซ่นสรวงบางโอกาส
ขณะที่บ้านเรา “ร้อยโทเจมส์ โลว์” ทูตอังกฤษที่เดินทางมาติดต่อนครศรีธรรมราช ราวปี พ.ศ.2367 บันทึกในเอกสารจดหมาย Journal of Public Mission to Raja of Ligor ว่า “สมัยหนึ่งชาติทั้งหลายของแหลมอินโดจีน มีการนับถือสุนัขเป็นที่แพร่หลาย เช่นเดียวกับการนับถือเสือ... สิ่งสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่พอให้เห็นประเพณีการนับถือสุนัขในเมืองถลางก็คือ รูปปั้นสุนัขตั้งอยู่ใกล้ๆ ท่าเรือ...”
สันนิษฐานว่าหมาได้รับการนับถือเพราะอุปนิสัยเฉพาะตัว เช่น การหวงถิ่นเฝ้ายาม ทำให้ถูกเทียบได้กับผู้ปกปักรักษา ขณะเดียวกันหมาก็มีอุปนิสัยบางอย่างที่ไม่น่าแลในสายตามนุษย์
เช่น บางตัวมีพฤติกรรมกัดตัวอื่นตอนเผลอ เป็นสำนวน “หมาลอบกัด”, บางตัวมีพฤติกรรมยกฝูงไปรุมกัดหมาตัวอื่น เป็นสำนวน “หมาหมู่”, บางตัวปากเปราะแค่ใบไม้ไหวก็เห่าไปเรื่อย เป็นสำนวน “หมาเห่าใบตองแห้ง” หมายถึงพวกเอะอะอวดตัว แต่จริงๆ บ่มีไก๊ ฯลฯ ดังนั้น ท่ามกลางการนับถือ พฤติกรรมของหมาจึงไม่พ้นที่จะถูกเทียบเคียงกับเรื่องแย่ๆ
แย่ที่สุดคือเรื่องของ “กรรม” ตามปกติสังคมพุทธบ้านเรา เชื่อว่าการเกิดเป็นเดรัจฉานชาติล้วนมาจากกรรมอยู่แล้ว โดยการเกิดเป็น “หมา” นั้นดูเหมือนจะมีมูลเหตุเกี่ยวกับความโลภและความตะกละ ซึ่งก็เป็นนิสัยตามธรรมชาติของหมา เช่น ใน “อรรถกถาสุภสูตร” เล่าถึงบุตรพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นคนรวยแต่โลภและงกมาก ไม่เคยให้อะไรกับใคร ขนาดพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่ใกล้ๆ บ้านก็ไม่ยอมถวายข้าวสักกระบวยเดียว ด้วยอำนาจแห่งความโลภเมื่อตายไปจึงไปเกิดเป็นหมา
ขณะที่ “อรรถกถาชาลิยสูตร” เล่าถึงบุรุษยากจนเข็ญใจคนหนึ่งหนีภัยความแห้งแล้งไปบ้านคนเลี้ยงวัว บังเอิญนายโคบาลทำข้าวปายาสของดีไว้มาก บุรุษเข็ญใจจึงกินเข้าไปเต็มคราบ อาหารไม่ย่อยจนถึงแก่ชีวิต วิญญาณหลุดลอยไปเกิดในท้องนางหมาตัวหนึ่ง เป็นต้น
ด้วยความเชื่อเรื่องบาปกรรม ประกอบกับพฤติกรรมไม่น่าชมหลายอย่าง ทำให้หมาไม่อาจมีสถานะสูงได้อย่างเต็มภาคภูมิ บางครั้งเป็นตัวแทนของความต่ำต้อยอีกต่างหาก เช่น ในโคลงโลกนิติ วัดโพธิ์ ของสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร มีบทหนึ่งที่เปรียบเปรยเรื่องการใช้คนให้ตรงงาน หรือจัดลำดับคนให้ถูกชั้น โดยเทียบกับพฤติกรรมของสัตว์ ความว่า
พาชีขี่คล่องคล้อย ควรคลา
โคคู่ควรไถนา ชอบใช้
บนชานชาติวิฬาร์ ควรอยู่
สุนัขเนาแต่ใต้ ต่ำเหย้าเรือนควร ฯ
ขณะที่ในกลอนสุภาษิต “สวัสดิรักษา” ของสุนทรภู่ ซึ่งมีเนื้อหาสอนชายไทยชั้นสูงในการปฏิบัติตน เพื่อมุ่งเน้นรักษา “สิริ” อันจะเกิดมลคลต่อตัวเอง ก็สะท้อนความต่ำต้อยด้อยศักดิ์ของหมาเอาไว้เหมือนกัน เพราะมีข้อห้ามหนึ่งระบุว่า ไม่ให้ดุด่าเวลาหมาเห่าหมาหอนหนวกหู เพราะจะทำให้เสียสง่า คนไม่ยำเกรงคำพูด
ไม่ว่าจะตะกละ โลภ ต่ำต้อย ฯลฯ ทั้งหมดทั้งปวงล้วนเป็นบางมุมมองที่คนมีต่อหมา จนชื่อของ “หมา” ถูกแปรมาเป็นคำด่าแสบสันต์ในที่สุด
แต่เชื่อเถอะว่าภาษาเป็นของ “ดิ้นได้” ในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกล ���ากตัวอะไรทำพฤติกรรมแย่ๆ บ่อยๆ ก็อาจได้รับการเลื่อนชั้น อัญเชิญชื่อมาเป็นคำด่าได้เหมือนกัน