ไม่พบผลการค้นหา
มุมมองพรรคการเมืองในโลกดิจิทัล 'พรรคเกรียน' ผุดไอเดียระดมความคิดผ่านแพลตฟอร์ม สังเคราะห์นโยบายสาธารณะ ด้าน 'พรรคกลาง' ชูเทคโนโลยีสร้างการพัฒนา 'พรรคสามัญชน' ชี้ผู้มีอำนาจต้องปรับแนวคิดให้ทันโลกสมัยใหม่

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา มุมมองการเมืองในยุคดิจิทัล โดยเชิญตัวแทน 3 พรรคการเมือง ประกอบไปด้วย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้จัดตั้งพรรคเกรียน นายปกรณ์ อารีกุล ตัวแทนพรรคสามัญชน ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว ตัวแทนพรรคกลาง มาร่วมแสดงความคิดเห็นและนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง


_MG_2981.JPG


มุมมองการเมืองในโลกดิจิทัล

นายสมบัติ กล่าวว่า แนวคิดในการตั้งพรรคเพราะมองว่าระบบการเมืองในปัจจุบันมันน่าเบื่อ และจะทำให้คนไทยออกห่างจากการเมือง เราจึงมีแนวคิดทำการเมืองให้เป็นเรื่องสนุก เพราะเชื่อว่าจะดึงให้ผู้คนเข้ามาสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น จึงได้ทดลองทำพรรคการเมือง โดยท้าทาย กกต.และสังคม ด้วยรูปแบบการทำนโยบายพรรคด้วยการเปิดให้คนเสนอไอเดียที่จะแก้ปัญหาสังคมไทย เพื่อสังเคราะห์ให้เป็นนโยบายออกมาให้เป็นรูปธรรม 


_MG_3077.JPG


สิ่งสำคัญคือ การผลิตนโยบายสาธารณะ เดิมทีผลิตจากกลุ่มคนเล็กๆ ภายในพรรค ดังนั้นพรรคเกรียนเราจะเสนอรูปแบบการผลิตด้วยการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้สมาชิกหรือคนสนใจ ซึ่งการทำเช่นนี้จะเห็นการเสนอนโยบายเป็นพันเป็นหมื่นที่สะท้อนความหลากหลายออกมา จนนำไปสู่การผลิตนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชน

ส่วนเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันเป็นนวัตกรรมของมนุษยชาติ ไม่ว่ารัฐไทยจะปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด แต่วัฒนธรรมในโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนคลื่นความถี่ทั้งหมดเป็นของรัฐ เพราะว่ารัฐใช้เทคโนโลยีควบคุมการสื่อสาร เพราะเขาไม่ต้องการให้เกิดเสรีภาพจนเกินไป จะเห็นว่ามีการควบคุมอยู่ตลอดเวลา แต่ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท จึงเชื่อว่ารัฐมองว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่เหนือการควบคุม แต่รัฐปรับตัวด้วยการออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 


“อิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัล มันรุนแรงมากทำให้การรับรู้ของประชาชนเปลี่ยนไป แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาชี้วัดว่า ประชาชนรู้สึกอย่างไรกับคณะของพลเอกประยุทธ์”


ด้าน ดร.ชุมพล เห็นว่า พรรคกลางคือความสมดุล โดยเน้นการพัฒนามุ่งไปตรงกลางไม่สนความแตกแยก รวมถึงเป็นเวทีกลางเพื่อทุกคนทุกอาชีพ และต้องการเป็นแบบอย่างให้เห็นว่าคนธรรมดาเข้ามาทำงานการเมืองได้ โดยใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงการเมือง เรานิยามว่าประชาธิปไตยทางตรง มีการใช้แพลตฟอร์ม เพื่อทำการโหวตประชามติ เพื่อสร้างกฎหมาย โดยไม่ต้องใช้ ส.ส. และจะทำให้เห็นในพรรคก่อนในการโหวตนโยบายและกรรมการบริหารพรรคกลาง 


_MG_3114.JPG


แน่นอนว่า 8 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีไปไกลมาก และเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีเซอร์ไพร์ ซึ่งพรรคกลางเห็นว่าคีย์เวิร์ดหนึ่งอย่างคือรอยเท้าที่เราเข้าไปทำกิจกรรมในโซเชียลมีเดีย ซึ่งทุกครั้งเราจะถูกบันทึกไว้หมด ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยที่สามารถนำการเก็บข้อมูลการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตไปวิเคราะห์บุคลิคของเราได้ 


"ดังนั้นถ้าวิเคราะห์ได้ในทางการเมือง เราสามารถจะวิเคราะห์บุคลิกคนไทยทั้งประเทศได้ จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหน้าฟีดเฟซบุ๊กของแต่ละคนมันถูกกลั่นกรอง ทำให้เรามักจะเห็นในสิ่งที่เราสนใจอยู่เสมอ"


ด้านนายปกรณ์ กล่าวว่า จุดประสงค์ของการตั้งพรรคสามัญชน คือมองว่ากระบวนการพรรคการเมืองสำหรับคนเล็กคนน้อยมีน้อยมากในเมืองไทย ที่ให้คนธรรมดาเข้ามามีส่วนร่วม สามัญชนเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่เป็นนักกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเรื่องสังคมหรือการเมือง ที่มีแนวคิดร่วมกันว่าทุกคนเท่ากัน โดยพรรคสามัญชนอยู่ในระหว่างสมัชชาเพื่อเสนอนโยบาย โดยยึดหลักการประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน เท่าเทียมเป็นธรรม เมื่อสามข้อนี้เราจะทำคาราวานนโยบายเข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ 


_MG_3064.JPG

จากผลสำรวจพบว่าคนไทยมี 69 ล้านคน ตอนนี้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตประมาณ 57 ล้านคน สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือโลกดิจิทัลคือสิ่งที่คนเล็กคนน้อยเข้าถึงและเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ในทางการเมืองพบว่าเมื่อมีการรณรงค์คัดค้านกฎหมาย มีผู้ร่วมลงชื่อถึง 300,000 คน แต่ผู้มีอำนาจกับไม่สนใจ ตสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของผู้มีอำนาไม่สอดคล้องกับโลกดิจิทัล 

"วันนี้ในเราก้าวสู่สังคม 4.0 แต่ผู้มีอำนาจมีแนวคิด 2.0 หลายสิ่งหลายอย่างมันน่าจะแก้ได้ หากผู้มีอำนาจคิดสอดคล้องกับโลกปัจจุบัน จะเห็นว่ากลุ่มชาวบ้านทุกวันนี้ เข้าถึงเทคโนลียีแล้ว แต่ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ทำให้เกิดความช้า สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง หากผู้มีอำนาจยังช้า และยังเข้าไปไม่ถึงแก่น เราจึงจำเป็นต้องเลือกคนที่ตอบโจทย์กับโลกปัจจุบัน"