ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครองนัดไต่สวนเพิ่มเติม หลังเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นค้านการเปิดขายหุ้นของโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ฯ โดยอ้างว่าเป็นการหากินกับการศึกษา เสี่ยงค่าเล่าเรียนพุ่ง แต่ผู้บริหาร ร.ร. ย้ำ ต้องการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้

ศาลปกครองออกออกหมายนัดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาไต่สวนเพิ่มเติมในวันที่ 7 ธ.ค. 2561 หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นค้านการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพในประเทศไทย

นายจุติกล่าวหาว่า การกระทำของเอสไอเอสบีเข้าข่าย 'หากินกับการศึกษา' เพราะรัฐบาลไทยยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้และภาษีอื่นๆ จากธุรกิจโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ เพื่อจะให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา แต่การนำธุรกิจโรงเรียนเข้าตลาดหลักทรัพย์จะนำไปสู่การแสวงหากำไร เสี่ยงที่จะมีการเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่ม รวมถึงยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

เอสไอเอสบีได้เปิดขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรก หรือ IPO เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการเสนอขายหุ้น 260 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 5.20 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน ปรากฎว่าเมื่อเปิดขายราคากลับตกลงไปอยู่ที่หุ้นละ 4.44 บาทเท่านั้น แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าเป็นผลจากการคัดค้านการขายหุ้นของนายจุติและกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านการศึกษาในประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่งหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายจุติได้ให้สัมภาษณ์กับเดอะสเตรทไทม์ส สื่อของสิงคโปร์ โดยระบุว่า เขาไม่ได้ต้องการโจมตีบริษัทเอกชน แต่เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เพราะถ้าปล่อยให้กรณีนี้เกิดขึ้นได้ ก็จะมีธุรกิจโรงเรียนเอกชนอีกหลายแห่งทำตาม พร้อมอธิบายว่าหลังจากที่มีการเพิ่มทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็จะต้องว่าจ้างอาจารย์ดีๆ มาสอน และก็จะมีการเก็บค่าเล่าเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่ม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทยมากยิ่งขึ้น เพราะนักเรียนที่ยากจนจะมีตัวเลือกทางการศึกษาน้อยลง 

ด้านนายเคลวิน โคห์ ผู้บริหารเอสไอเอสบี ยืนยันกับเดอะสเตรทไทม์สว่าการเปิดขายหุ้น IPO ไม่ใช่การแสวงหาผลกำไร แต่เป็นการลงทุนเพื่อการเติบโตของโรงเรียน โดยที่ผ่านมา ร.ร.มีการลงทุนในด้านศูนย์ศิลปะและสนามกีฬาสำหรับเด็กนักเรียน และโคห์ย้ำว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์จะไม่ทำให้โรงเรียนเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่ม และการจะขึ้นค่าธรรมเนียมหรือค่าเล่าเรียนแต่ละครั้งต้องทำเรื่องเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขออนุมัติอย่างเป็นทางการ ทั้งยังจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐเสียก่อนจึงจะขึ้นค่าเล่าเรียนได้

นอกจากนี้ สื่อสิงคโปร์รายงานอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการของไทย ระบุว่าในปี 2560 มีนักเรียนกว่า 3.5 ล้านคนเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 12,743 โรงเรียน ขณะที่เอสไอเอสบีก่อต้ัง 'โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพ' แห่งแรกที่ย่านเอกมัยเมื่อปี 2544 ก่อนจะขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 4 สาขา ได้แก่ สาขาประชาอุทิศ, สุวรรณภูมิ, จ.เชียงใหม่ และธนบุรี โดยปัจจุบันมีนักเรียนศึกษาอยู่มากกว่า 2,400 คน และร้อยละ 85 ของนักเรียนเอสไอเอสบีเป็นเด็กไทย

ส่วนบริษัทไชน่า ยู่หัว เอ็ดยูเคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CYEC) บริษัทแม่ของเอสไอเอสบี จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยมีการนำโรงเรียนประถมและมัธยม รวมถึงมหาวิทยาลัยในสังกัดเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แล้ว แต่ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลกลางของจีนเพิ่งมีคำสั่งห้ามนำโรงเรียนอนุบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: