นางแพทริเชีย หรือ แพท แฮร์ริงตัน มารดาของนายเบน แฮร์ริงตัน นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษวัย 32 ปี ซึ่งเสียชีวิตที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2555 รณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนในสหราชอาณาจักรผ่านทางเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษเข้าไปสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายแฮร์ริงตัน รวมถึงการเสียชีวิตของชาวอังกฤษในประเทศไทยรวม 95 ราย ระหว่างปี 2551-2560
การรณรงค์ล่ารายชื่อของแพท แฮร์ริงตัน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2560 จนกระทั่งถึงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนมากกว่า 14,000 คน จึงได้นำรายชื่อดังกล่าวไปส่งมอบให้กับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา
เนื้อหาในจดหมายล่ารายชื่อของแพท แฮร์ริงตัน ระบุว่า "ลูกชายของฉันถูกฆ่าที่เกาะเต่าเมื่อปี 2555 พวกเขาบอกว่าเป็นเพราะอุบัติเหตุ แต่เรื่องราวไม่ลงตัว ซึ่งถ้าเป็นการชันสูตรที่อังกฤษ คงไม่มีใครใช้คำว่า 'อุบัติเหตุ' แน่ๆ"
(คริสปิน บลันท์ ส.ส.พรรครัฐบาล เป็นตัวแทนรับรายชื่อจากแพท แฮร์ริงตัน แทนนายกฯ)
แพท แฮร์ริงตัน ยังกล่าวด้วยว่าฐานข้อมูลออนไลน์ Farang Death Database บ่งชี้ว่าชาวต่างชาติเสียชีวิตในไทย 562 ราย ในช่วงปี 2551-2560 ซึ่งในจำนวนนี้มี 106 ราย เป็นชาวอังกฤษ และ 87.37% เป็นผู้ชาย ส่วนสาเหตุการเสียชีิวิตที่พบมากสุด คือ อุบัติเหตุบนถนน ตกจากที่สูง และจมน้ำตาย
ขณะที่หน่วยสืบสวนคดีพิเศษรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาแล้ว และรัฐบาลอังกฤษต้องรับเรื่องต่อด้วย เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดจึงมีชาวอังกฤษเสียชีวิตในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
เว็บไซต์ ไอทีวี และสถานีโทรทัศน์ บีบีซีท้องถิ่นในเซอร์เรย์ ในอังกฤษ รายงานอ้างอิงนางแพท แฮร์ริงตัน ซึ่งไม่เชื่อว่าลูกชายของตนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ โดยก่อนหน้านี้เธอให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ news.com.au โดยระบุว่าผลชันสูตรศพชี้ว่าลูกชายของเธอเสียชีวิตเพราะขับรถจักรยานยนต์ชนสายไฟเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2555 แต่ในรายงานไม่มีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม เธอจึงเกรงว่าการเสียชีวิตของลูกชายอาจเกิดจากการปล้นชิงทรัพย์ของอาชญากรที่ใช้วิธีขึงสายไฟดักรถจักรยานยนต์ เพราะขณะเกิดเหตุ เบน แฮร์ริงตัน ขับรถจักรยานยนต์ออกนอกที่พักเพียงลำพัง อีกทั้งกระเป๋าเงินและนาฬิกาของเบนก็หายไปจากที่เกิดเหตุด้วย
อย่างไรก็ตาม คดีของแฮร์ริงตันไม่ได้รับรายงานในสื่อไทยมากนัก ต่างจากคดีฆาตกรรมนายเดวิด มิลเลอร์ และนางสาวฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ ที่หาดทรายรี เกาะเต่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2557 เพราะคดีหลังพบหลักฐานประกอบชัดเจนว่าเป็นการฆาตกรรม อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมและดำเนินคดี นายเว พโย และนายโซ ลิน ชาวเมียนมา ในฐานะผู้ต้องหา และศาลชั้นต้นรวมถึงศาลอุทธรณ์ใน จ.สุราษฎร์ธานี ได้ตัดสินประหารชีวิตผู้ต้องหาทั้งสองคน แต่ในขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างกระบวนพิจารณาในชั้นฎีกา
คดีของเดวิด มิลเลอร์ และฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ เป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก และคดีดังกล่าวยังทำให้เกิดการประท้วงที่นครย่างกุ้งในเมียนมา เพื่อคัดค้านคำตัดสินประหารชีวิตผู้ต้องหาทั้งสองราย เพราะในตอนแรกคดีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีเจ้าหน้าที่ของไทยไม่ได้ปิดล้อมที่เกิดเหตุ ทำให้มีผู้ถ่ายภาพผู้เสียชีวิตไปเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ และมีข้อสังเกตว่าหลักฐานและพยานแวดล้อมต่างๆ อาจจะถูกปนเปื้อน
หลังเกิดเหตุฆาตกรรมบนเกาะเต่าเมื่อปี 2557 ยังมีกรณีการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกหลายคน ไม่เฉพาะแค่ชาวอังกฤษ บางรายเสียชีวิตในสภาพจมในสระว่ายน้ำของโรงแรม และมีบาดแผลที่ศีรษะ ส่วนบางรายก็หายไปจากที่พักบนเกาะ และตามหาตัวไม่เจอ ทำให้สื่อต่างประเทศตั้งฉายาเกาะเต่าว่าเป็น 'เกาะแห่งความตาย'
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางรายได้แสดงความเห็นโต้แย้งในเพจเรียกร้องความเป็นธรรมแก่นายเบน แฮร์ริงตัน โดยระบุว่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษอาจจะไม่ระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตเองได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว SCMP รายงานอ้างอิงผลสำรวจผ่านเว็บไซต์ด้านการจองที่พัก Hotel.com พบว่าอังกฤษติดอันดับ 2 ใน 7 ประเทศที่พลเมืองประพฤติตัว 'น่ารำคาญที่สุดในโลก' ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวต่างแดน โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษมักมีพฤติกรรมสุดโต่งและคึกคะนองหลังดื่มแอลกอฮอล์
อ่านเพิ่มเติม: