พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ ติดตามสถานการณ์น้ำ และตรวจความคืบหน้าการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ อ.สบปราบ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่อยู่ในแผนเฝ้าระวัง การขาดแคลนน้ำของ กอนช.
โดยพล.อ.ประวิตร ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ อ.เมือง และ อ.สบปราบ จ.ลำปาง เพื่อรับทราบความคืบหน้าและปัญหาข้อขัดข้อง รวมทั้งความต้องการต่างๆที่จำเป็นของท้องถิ่น โดยภายหลังได้รับทราบรายงานจากเลขาฯ สทนช. ,ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า จ.ลำปาง อยู่ในลุ่มน้ำวัง ที่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และมีไม้ผลยืนต้นที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงกว่าหมื่นไร่ แต่ด้วยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ทำให้ จ.ลำปาง ไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง
โดยปีนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบกลาง แก้ไขภัยแล้งกว่า 70 โครงการ และงบเร่งด่วนอีกกว่า 150 โครงการ ทั้งการขุดเจาะบ่อบาดาล การซ่อมแซมระบบประปา การขุดลอกแม่น้ำวัง และทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง รวมทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมอีกกว่า 20 โครงการ ที่กำลังเร่งรัดขับเคลื่อนให้สามารถแก้ปัญหาน้ำได้ทั้งระบบ ทั้งนี้ จ.ลำปาง ได้ริเริ่มโครงการนำร่องที่สำคัญ ได้แก่ "สิริราชโมเดล" เพื่อแก้ไขภัยแล้งในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยบริหารจัดการน้ำทั้งบนดิน และใต้ดินอย่างเป็นระบบ
พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายการทำงาน ให้แก่ กอนช. จ.ลำปาง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้บูรณาการทำงานแก้ปัญหาน้ำ ทั้งระบบ และขับเคลื่อนโครงการต่างๆให้แล้วเสร็จ ตามแผนงาน อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกล่าวชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่ได้ทุ่มเทเสียสละ ปฏิบัติหน้าที่แม้ต้องเฝ้าระวัง covid-19 ที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้กล่าวขอบคุณพี่น้องประชาชน และเกษตรกร จ.ลำปาง ที่ได้แสดงออกถึงความร่วมมือ กับภาครัฐในการแก้ปัญหาภัยแล้ง กระทั่งมีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ ส่งผลให้ จ.ลำปางไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งซึ่งถือเป็นจังหวัดต้นแบบของพื้นที่ภาคเหนือ และรัฐบาลพร้อมส่งเสริมการพัฒนาให้มีความต่อเนื่องต่อไป
สำหรับสิริราชโมเดล เป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาชนในจ.ลำปาง เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการฯ ประกอบไปด้วย 4 กิจกรรมหลัก 1.การศึกษาวิจัย 2. การเจาะแหล่งน้ำบาดาล 3.การทำระบบจัดเก็บน้ำ (หอถังสูง อ่างเก็บน้ำในพื้นที่) 4.การจ่ายน้ำผ่านระบบบ่อไปยังพื้นที่เป้าหมาย (บ้านเรือน/พื้นที่ทำการเกษตร)
อ่านเพิ่มเติม