ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุขระบุประเทศอาเซียนมีผู้ป่วยรวมกว่า 4 แสนรายมากที่สุดในทุกภูมิภาคทั่วโลก เน้นหนักป้องกันโรคในโรงงาน ลดผลกระทบต่อลูกจ้างและประเทศ เตรียมพร้อมยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก

นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 พร้อมด้วยนายทิวา วัชรกาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี    นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง นางรวิสรา จิรโรจน์วัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี  เเละนายธีรชัย วงศ์วนิชโยธิน รักษาการแทนปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตูม ร่วมกิจกรรมรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2561 (ASEAN Dengue Day 2018) ในสโลแกน 1 ASEAN Community Against Dengue หรือ “อาเซียนร่วมใจต้านภัยไข้เลือดออก” ในประเด็นที่ว่า “Big cleaning Day : เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย” หลังปี 2560 ประเทศอาเซียนมีผู้ป่วยรวมแล้วถึง 425,532 ราย มากที่สุดในทุกภูมิภาคทั่วโลก ในการนี้นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั่วประเทศดำเนินการเฝ้าระวัง รณรงค์ และส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออก

นายแพทย์สุเทพ กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ร้อนชื้นจึงเหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของยุงลาย ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากยุงลายมากขึ้น ตลอดช่วงที่ผ่านมา ทุกประเทศร่วมกันดำเนินมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคอย่างเต็มที่ ซึ่งยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนต้องเข้าร่วมมืออย่างจริงจัง อีกทั้ง ปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายและเน้นรณรงค์ไปยังกลุ่มพนักงานโรงงาน เพราะหากพนักงานเกิดเจ็บป่วย จะทำให้เกิดผลต่อการผลิตจนถึงผลประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้น จึงให้โรงงานและพื้นที่อุตสาหกรรมมีการเฝ้าระวังในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ หากมีอาการที่บ่งชี้ว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ได้แก่ มีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยต่อไป นอกจากนี้ยังมีการสำรวจภาชนะโดยรอบโรงงานและบ้านพัก   ลดขยะอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งนโยบายดังกล่าว ทางจังหวัดปราจีนบุรีมุ่งผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง พร้อมทั้งยังมุ่งส่งเสริมความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกในทุกกลุ่ม  

โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มการเกิดโรคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน (พ.ค.-ส.ค.) ที่คาดว่าจะพบผู้ป่วยประมาณเดือนละ 10,000 ราย สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 11 มิ.ย. 61 พบผู้ป่วยแล้ว 17,302 ราย เสียชีวิต 21 ราย การป่วยและเสียชีวิตตามกลุ่มอายุพบว่ากลุ่มเด็กวัยเรียน 5–14 ปีมีการป่วยมากถึงร้อยละ 36 ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกลับเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 14 ราย จากทั้งหมด 21 ราย (ร้อยละ 67) ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ และติดสุรา เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขสั่งการยกระดับมาตรการการเฝ้าระวัง เร่งรัดมาตรการควบคุมโรคจากท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยจัดระบบการให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วย ให้สามารถวินิจฉัยอาการสงสัยโรคไข้เลือดออกได้อย่างรวดเร็ว รณรงค์สื่อสารความเสี่ยงไปยังสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านการรักษาเพื่อลดการเสียชีวิต

ด้านนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเสริมว่า ขอให้ประชาชนยึดมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก คือ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่รกทึบจนเป็นที่เกาะพักของยุงลาย 2.เก็บขยะ เศษภาชนะที่อาจมีน้ำขังไม่ให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3.เก็บภาชนะใส่น้ำปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย