ไม่พบผลการค้นหา
'ประยุทธ์' สั่งลงโทษเด็ดขาดคนกระทำผิดปมทุจริตเงินคนจน พร้อมขอให้หาหลักฐานหากโยงปมโยกย้ายตำแหน่ง ขณะที่ ป.ป.ท.เผยมีมูลทุจริต 12 จังหวัด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เปิดเผยความคืบหน้าปัญหาการตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ และผู้ติดเชื้อเอดส์ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ว่า ส่วนตัวได้สอบถามทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และได้รับคำตอบว่ามีกฎระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งงบประมาณในส่วนดังกล่าวมีมายาวนานหลายรัฐบาล ที่กำหนดไว้ว่าสามารถให้เป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ได้ เพื่อนำไปทำประโยชน์ดูแลผู้ยากไร้ แต่มีบุคคลมาแสวงโอกาสตรงนี้ไปหาคนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริง หรืออาจมีคนที่เดือดร้อนจริงแต่ไม่ทราบมารวมกลุ่ม เพื่อเบิกเงินออกไป ทำให้คนควรจะได้แต่ไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของกระบวนการภายในที่จะต้องตรวจสอบออกมา

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ส่วนตัวได้สั่งการไปแล้วว่าต้องลงโทษโดยเด็ดขาดที่มีทั้งทางวินัยและทางอาญาโดยได้สั่งให้ปลัดและรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มาปฏิบัติงานที่สำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีเงินเดือนต่างๆ เท่าเดิมหากตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดก็สามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามเดิม จึงขอให้เข้าใจว่ามีความผิดปกติในการใช้เงินของทางราชการและขอให้แยกแยะกรณีกันด้วย

ส่วนกรณีที่มีการเชื่อมโยงกับการโยกย้ายตำแหน่งนั้น ขอให้ไปหาหลักฐานมาเพราะท้ายสุดตนเองจะต้องเป็นคนลงนามตามที่กระทรวงฯเสนอแต่งตั้งขึ้นมา หากได้มาด้วยความไม่สุจริตก็ต้องตั้งกระบวนการสอบสวนขึ้นมา เพื่อลงโทษโดยทั้งหมดเป็นเรื่องความรับผิดชอบตามระดับชั้น

ป.ป.ท.เผย 12 จังหวัดส่อผิดมีมูล

ด้านพ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รักษาการเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เปิดเผยหลังเข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า ได้รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งซึ่งจากการลงพื้นที่ทั้งหมด 20 จังหวัดพบมูลความผิดใน 12 จังหวัด ประกอบไปด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สระบุรี อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา น่าน กระบี่ ตราด ตรังและสุราษฎร์ธานี โดยมี2จังหวัด คือเชียงใหม่และขอนแก่นได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว

ส่วนจังหวัดบึงกาฬและหนองคาย อยู่ระหว่างการเตรียมตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ส่วนอีก8 จังหวัดที่เหลืออยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน โดยจะทำการตรวจสอบทั้ง 76 ศูนย์ให้แล้วเสร็จภายใน3 เดือนซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ นอกจากผลทางคดีแล้วยังจะเสนอแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นอีก

ขณะที่พฤติการณ์ความผิดในแต่ละจังหวัด มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือนำเอาบัตรประชาชนของผู้ได้รับเงินสงเคราะห์ไปสวมสิทธิ์เบิกเงินแทน แต่ไม่นำเงินไปให้ประชาชนและบางส่วนได้เงินไม่ครบ ขณะนี้ตรวจสอบในงบประมาณปี 2560และหากพบว่ามีความผิดก็จะดำเนินการตรวจสอบในงบประมาณปีอื่นๆด้วย