ไม่พบผลการค้นหา
คลี่สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ปัญหาสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง

เว็บไซต์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอเรื่อง 'หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมจึงไม่ควรมองข้าม?' โดยระบุว่า


1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้

ข้อมูลสินเชื่อในระบบที่มีอยู่ในเครดิตบูโร เดือนมีนาคม 2556 คนไทยมีหนี้สูงถึง 37% หรือราว 25 ล้านคน สัดส่วนนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

หากย้อนไปดู 6 ปีก่อนหรือปี 2560 ตัวเลขคนมีหนี้อยู่ที่ 30% หรือราว 20 ล้านคน  


10 ปีหนี้คนไทยเพิ่ม 2 เท่า 

กลุ่มเป็นหนี้เกิน 1 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 14%

กลุ่มเป็นหนี้ 100,001-1,000,000 บาท มีอยู่ราว 43%

กลุ่มเป็นหนี้ 10,001- 100,000 บาท มีอยู่ราว 33%

กลุ่มเป็นหนี้ไม่เกิน 1 หมื่นบาท มีอยู่ราว 10%

ในภาพรวมหนี้ของคนไทยเพิ่มเกือบ 2 เท่า ในเวลา 10 ปี

 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย สูงกว่า มาเลเซีย จีน สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย แต่ไปใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่นอังกฤษ อเมริกา

ที่สำคัญ สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทยยังขยายตัวเร็วกว่าหลายประเทศอย่างชัดเจน โดยเพิ่มขึ้นถึง 55% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา


2 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้

เราอาจแบ่งหนี้ออกเป็น 2 แบบ

1.หนี้ไม่สร้างรายได้ (อาจเรียกว่า หนี้พึงระวัง) คือ หนี้ที่ทำให้มีความสุขวันนี้ แต่ไม่ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้รายได้เพิ่ม เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค หนี้จากการซื้อของเกินฐานะ

2.หนี้ที่สร้างรายได้ (อาจเรียกว่า หนี้ดี) คือ หนี้ที่ช่วยสร้างอนาคต สร้างอาชีพหรือความมั่นคงระยะยาว เช่น หนี้เพื่อการศึกษา หนี้บ้าน หนี้ลงทุนประกอบอาชีพ

จากข้อมูลพบว่า 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไทยเป็น หนี้ที่ไม่สร้างรายได้ !

โดยแบ่งเป็น

  • หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 39%
  • หนี้บัตรเครดิต 29%
  • หนี้มอเตอร์ไซค์ 2%
  • หนี้รถยนต์ 10%
  • หนี้บ้าน 4%
  • หนี้ธุรกิจ 4%
  • หนี้การเกษตร 12%

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์นี้ของคนไทยค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจากบัญชีหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่อาจไม่สร้างรายได้ ซึ่งมีระยะผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง ทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูง ขณะเดียวกัน ข้อมูลยังสะท้อนได้อีกว่า คนไทยมีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อที่จำเป็น เช่น สินเชื่อบ้าน

ที่น่ากังวลกว่านั้น ยังพบว่า 20% ของคนไทยที่เป็นหนี้ในเครดิตบูโรกำลังประสบกับปัญหาหนี้เสีย หรือมีการค้างชำระเกินกว่า 90 วันขึ้นไป


คนรุ่นใหม่ก่อหนี้เร็วขึ้น และหนี้เสียสูงสุด

ข้อมูลพบว่า 1 ใน 2 ของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานก็เริ่มมีหนี้กันแล้ว และสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา

สำหรับสัดส่วนคนที่มีหนี้เสีย แยกตามช่วงอายุ มีดังนี้

วัยเริ่มทำงาน (20-35ปี) มีหนี้เสีย 24%

วัยทำงาน (36-60 ปี) มีหนี้เสีย 20%

วัยเกษียณ (61 ปีขึ้นไป) มีหนี้เสีย 11%

นอกจากนี้ เกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็น 2 กลุ่มที่สถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูง โดยเฉลี่ย 12 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของเกษตรและผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ 34% และ 41% ตามลำดับ

แปลความง่ายๆ ว่า หากมีรายได้ 100 บาท เกษตรกรต้องเอาไปจ่ายหนี้ 34 บาท ผู้มีรายได้น้อยเอาไปจ่ายนี้ 41 บาท ทำให้เหลือเงินใช้จ่ายจริงน้อยลงมาก

ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมในระยะยาว

รายละเอียดและทางออกสำหรับภาคส่วนต่างๆ อ่านที่ https://projects.pier.or.th/household-debt/