ไม่พบผลการค้นหา
"ธนาธร" แนะสร้างโอกาสที่ดีจากตัวเลขการผลิตที่ต่ำสุดรอบ 10 ปี ด้วยการสร้างเส้นทางพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของไทย แต่ต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ก่อน

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ตัวเลขการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี แต่นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสร้างเส้นทางพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย

และอะไรคือดัชนีการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งดัชนีนี้ คือตัวเลขการผลิตจริงในภาคอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตที่ทั้งประเทศมีอยู่ หากตัวเลขดัชนีต่ำ แปลว่าเรามีผลิตน้อยกว่าศักยภาพกำลังที่เรามี

ตัวเลขดัชนีในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุด ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 65 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และที่สำคัญ อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเร็วอย่างน่ากลัว จากกลางปีที่แล้ว เดือน มิ.ย. 2561 เราใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ ร้อยละ 71.16 อีกทั้งปลายปีที่แล้ว เดือน ธ.ค. 2561 เราใช้กำลังการผลิตอยู่ ร้อยละ 68.54 ส่วนกลางปีนี้ เดือน มิ.ย. 2562 เราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ ร้อยละ 65.64 และตัวเลขล่าสุด คือเดือน ก.ย. ผ่านมา เราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ ร้อยละ 64.73

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา เราเคยมีดัชนีการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่ำกว่า ร้อยละ 65 ทั้งหมดสามครั้ง ครั้งที่ใกล้ที่สุดคือช่วงเดือน พ.ย. 2554 ซึ่งตัวเลขลดลงต่ำกว่า ร้อยละ 50 เลยทีเดียว ปรากฏการณ์ครั้งนั้นเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ไม่ได้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตัวมันเอง เมื่อน้ำลด การใช้กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้นสู่จุดปกติทันที

อีกสองครั้งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในช่วงปี 2551 - 2553 ซึ่งตรงกับวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอเมริกาและยุโรป เราใช้เวลาประมาณครึ่งปีกว่าที่จะดึงการใช้กำลังการผลิตกลับมาที่ระดับ ร้อยละ 70 อีกครั้ง

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า หากตัดช่วงน้ำท่วมใหญ่ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติ ไม่ใช่ภัยเศรษฐกิจโดยตัวมันเองออกไปแล้ว อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

และเรามองเห็นอะไรจากตัวเลขนี้

1. เมื่อกำลังการผลิตลดลง ภาคอุตสาหกรรมต้องลดการทำงานล่วงเวลาหรือเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งเราได้เห็นแล้วในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาว่ามีบริษัทปิดตัวลงจำนวนมาก

2. เราจะไม่เห็นการลงทุนภาคเอกชนขนาดใหญ่หรือการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในอนาคตอันใกล้นี้เลย การลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จะเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่หมดอายุ ไม่ใช่เพิ่มกำลังการผลิต (เมื่อเรายังผลิตอยู่ที่ ร้อยละ 65 ของเครื่องจักรและกำลังคนที่เรามี เราจะไม่ลงทุนใหม่หรือจ้างงานเพิ่ม โดยสถิติ ภาคเอกชนจะลงทุนเพิ่มก็ต่อเมื่อการใช้กำลังการผลิตขององค์กรยืนอยู่เหนือระดับ ร้อยละ 75-80 เท่านั้น)

"อนาคตใหม่" เสนอแนวทางก้าวผ่านวิกฤต

ในภาวะเช่นนี้ เราควรทำเช่นไร นายธนาธร เสริมว่า ในภาวะที่การลงทุนภาคเอกชนไม่เกิดขึ้น การส่งออกไม่สดใส และการบริโภคภายในซบเซา ภาวะเช่นนี้เปิดโอกาสให้เรากลับมาทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศของเราอีกครั้ง ว่าเราจะเดินไปเส้นทางไหนในศตวรรษที่ 21

พรรคอนาคตใหม่ เสนอสองแนวทางที่จะทำให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้ ดังนี้

1. คือการใช้โอกาสนี้สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่พึ่งพาและก่อสร้างเทคโนโลยีของตนเอง เรามีปัญหาของสังคมมหาศาล ดังนั้น การสร้างอุตสาหกรรมใหม่จะต้องสามารถแก้ปัญหาสังคม, ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น, สร้างเทคโนโลยีของตนเอง, สร้างการจ้างงาน และลดความเหลื่อมล้ำ สามารถทำได้พร้อมกัน เช่น การผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว, อุตสาหกรรมการจัดการขยะ, อุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมรถไฟ หรืออุตสาหกรรมเกษตรก้าวหน้า เป็นต้น

เราไม่สามารถพึ่งพาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เดิมได้อีกต่อไป ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตที่ล้นเกิน ทั้งสองอุตสาหกรรมไม่สามารถพาเราไปได้ไกลกว่านี้ แต่เราจะชักจูงและรอการลงทุนจากต่างชาติโดยไม่พัฒนาเทคโนโลยีของเราเองไม่ได้เช่นกัน เรามีเงินทุน มีสภาพคล่องล้นตลาดเงิน มีศักยภาพของคน และมีความต้องการในประเทศเพียงพอที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่จากห่วงโซ่อุปทานและบุคคลากรที่มีอยู่ มีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะสร้างไทยที่ทัดเทียมกับโลก และก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้

2. เราต้องเริ่มคิดถึง "การลงทุนขนาดเล็กที่ใหญ่และทะเยอทะยาน" เราให้ความสำคัญเมกะโปรเจกต์ (Megaproject) เช่น สนามบินใหม่, ท่าเรือสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่, รถไฟความเร็วสูง หรือมอเตอร์เวย์ มานานจนหลงลืมไปว่ายังมีการลงทุนขนาดเล็กที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่จำเป็นอีกมาก เช่น โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วย, โรงเรียนที่ดีกว่าสำหรับเยาวชน, ระบบชลประทานที่ดีสำหรับเกษตรกร, การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น เป็นต้น

มันคงไม่ใช่เมกะโปรเจกต์สำหรับคนเมือง แต่เป็นการลงทุนเพื่อคนทุกคน เช่น โรงเรียนละ 2 ล้าน สำหรับโรงเรียนขนาดกลางและเล็กทั่วประเทศ จะใช้เงิน 6 หมื่นล้านบาท, สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพทุกตำบล, งบลงทุนหลักแสนล้านเพื่อจัดการน้ำให้เพียงพอทุกสำหรับครัวเรือน, ทุกแปลงเกษตร และทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น

นี่คือการลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นี่คือการสร้างพื้นฐานบริการภาครัฐที่มีคุณภาพ ที่จะอนุญาตให้คนในสังคมใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและเปี่ยมไปด้วยความหมาย

โดยในช่วงท้ายนั้นนายธนาธร โพสต์ประโยคปิดไว้ว่า "แต่...ถ้าจะทำได้ทั้งหมดนั้น...ต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้เสียก่อน"