วันที่ 25 ก.ค.ที่ ส.น.ทุ่งสองห้อง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย และ จตุรงค์ สุขเอียด ผู้สื่อข่าว และ บรรณาธิการรายการข่าวสามมิติ เดินทางเข้าพบพนังงานสอบสวน ให้ข้อมูลปมบันทึกการรายงานประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ขัดแย้งกับคลิปวิดีโอการประชุมที่ถูกนำมาเสนอผ่านสื่อ ในฐานะพยานเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี พร้อมหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอ ที่รายงานข่าวและเปิดคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบว่า ไม่ตรงกับเอกสารบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 ในรายการข่าว 3 มิติ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งเรื่องนี้ รัชพล ศิริสาคร ทนายความ ได้เข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน สน. ทุ่งสองห้อง เพื่อให้ตรวจสอบเอาผิด คิมห์ สิริทวีชัย ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ITV ปี 2566 และ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ร้องเรียน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลังพบข้อมูลจากสื่อมวลชนว่ารายงานผลการประชุม ขัดแย้งกับคลิปวิดีโอการประชุมที่ถูกนำมาเสนอผ่านสื่อก่อนหน้านี้ จึงมองว่า กรณีนี้อาจเข้าข่ายเรื่องการแจ้งความเท็จ ปลอมเอกสาร หรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำผิดจริงตามข้อสงสัย ก็ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย
ฐปณีย์ เผยว่าได้นำหลักฐานการรายงานข่าวพร้อมคลิปวิดีโอมามอบให้พนักงานสอบสวน ข้อมูลที่นำไปรายงานข่าวได้มาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ และมีการตรวจสอบก่อนที่จะนำเสนอข่าวออกไปตามขั้นตอน และไม่สามารถเปิดเผยแหล่งที่มาของแหล่งข่าวได้ ส่วนจะต้องไปเป็นพยานกรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองชั่วคราวเพราะมีชื่อเข้าไปถือครองหุ้นไอทีวีนั้น ขอให้เป็นไปหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าจะนำหลักฐานชิ้นนี้เข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยืนยันขณะนี้ไม่ผลกระทบกับตัวเองมั่นใจว่าอะไรที่นำเสนอด้วยความรอบคอบถูกต้อง หากจะเกิดอะไรขึ้นก็พร้อมที่จะยอมรับการตรวจสอบเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ผู้บันทึกรายงานมีการบันทึกการประชุมไม่เป็นไปตามผลการประชุม และมีผู้ลงนามบันทึกการประชุมนั้น ขอให้เป็นขั้นตอนการตรวจสอบของพนักงานสอบสวน และขอให้ทางบริษัทไอทีวีออกมาชี้แจงถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
จตุรงค์ เผยว่า ตัวเองเคยเป็นอดีตประธานสหภาพแรงงานไอทีวี มีส่วนกับการได้เสียของไอทีวีโดยตรง เมื่อทราบข่าวจึงต้องการทราบถึงข้อเท็จจริง โดย ฐปณีย์ ได้ค้นหาที่ตั้งของบริษัทไอทีวีเพื่อไปสอบถามกับทีมผู้บริหารถึงสภาพความเป็นสื่อของไอทีวี และได้พบกับผู้บริหารคนหนึ่ง แต่ไม่มีใครที่สามารถให้ข้อมูลได้ แต่มีผู้ที่ให้ข้อมูลการประชุมดังกล่าวว่า ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ และพบการทำบัญชีบางส่วนที่ปรากฎการว่าจ้างทำสื่อ ภายหลังที่ยุติกิจการไปแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต้องสืบค้นต่อว่าใครเป็นผู้ว่าจ้าง
ขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ทราบดีว่าพนักงานไอทีวีนับพันคนถูกเลิกจ้าง พร้อมได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐแล้ว ซึ่งนับแต่ถูกเลิกจ้างก็ไม่เคยดำเนินกิจการสื่อเลย เราก็ร่วมต่อสู้จนถึงวันที่ไอทีวีถูกปิด จึงต้องการจะเป็นตัวแทนที่จะหาคำตอบ หากทุกวันนี้ไอทีวียังเป็นสื่อจริงก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดยังคงพิจารณาการตัดสินว่าไอทีวียังคงดำเนินกิจการหรือไม่