ไม่พบผลการค้นหา
จีนเตรียมใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการจับตาสถานการณ์พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้แบบเรียลไทม์ในปี 2562 ตอกย้ำถึง "อำนาจอธิปไตย" ของจีนในพื้นที่พิพาท

สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า ในปี 2562 จีนเตรียมใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามสภาพการจราจรทางน้ำในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ โดยเฉพาะบริเวณรอบเกาะเทียม โดยจะยิงดาวเทียมออปติคอล 6 ดวง ดาวเทียมไฮเปอร์สเปกตรอล 2 ดวง ดาวเทียมเรดาร์อีก 2 ดวงขึ้นไปโคจรอยู่เหนือทะเลจีนใต้ รวมทั้งสิ้น 10 ดวง เพื่อช่วยให้เห็นภาพรวมของทะเลจีนใต้ได้แบบเรียลไทม์

นายหยาง เทียนเลี่ยง ผู้อำนวยการสถาบันการสำรวจระยะไกลซันย่ากล่าวว่า ระบบกลุ่มดาวเทียมใหม่นี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ในไห่หนานตอบสนองกับเหตุด่วนได้รวดเร็วขึ้น และทำให้การบริหารจัดการทะเลจีนใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจีนจะสามารถสำรวจพื้นที่และพัฒนาน่านน้ำที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์นี้ได้ดีขึ้น ทั้งเรื่องแนวปะการัง เกาะ และยานพาหนะในทะเลจีนใต้ทั้งหมดจะอยู่ใน "สายตาอวกาศ"

นอกจากนี้ ระบบนี้จะตอกย้ำถึงอำนาจอธิปไตยของจีน รวมถึงช่วยเรื่องการคุ้มครองการทำประมง การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล

อย่างไรก็ดี ดาวเทียม 10 ดวงนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 'ระบบกลุ่มดาวเทียมไห่หนาน' ภายใต้การควบคุมดูแลของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน โดยโครงการนี้มีกำหนดจะเสร็จสิ้นในปี 2564 โดยเฟสแรกจะเริ่มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ด้วยการส่งดาวเทียมออปติคอล 3 ดวงที่ติดตั้งเซนเซอร์สำรวจระยะไกล ระบบจดจำข้อมูลเรือ และกล้องถ่ายรูปที่จะทำให้เฝ้าระวังสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ โดยกล่องในดาวเทียมชุดแรกจะคอยตรวจจับยานพาหนะขนาดใหญ่และกลาง

ขณะที่ เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 จีนได้เปิดตัวโครงการระบบกลุ่มดาวเทียมไห่หนาน และนายหยางได้กล่าวว่า ดาวเทียมเหล่านี้จะทำให้ระบบเฝ้าระวังและการรับข้อมูลเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ และระบบนี้จะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเส้นทางสายไหมทางทะเล

โดยที่ผ่านมา จีนพยายามต่อสู้กับไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนามและบรูไนในการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่จีนได้แปลงจากแนวปะการังธรรมชาติให้มาแป็นเกาะเทียมที่ตั้งฐานทัพจีน

ทั้งนี้ ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของภูมิภาคและของโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญ มีสินค้าผ่านเส้นทางนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากข้อมูลของสำนักงานข้อมูลด้านพลังงานของสหรัฐฯ หรือ อีไอเอ ระบุว่า การค้าน้ำมันดิบ 1 ใน 3 ของโลก และก๊าซธรรมชาติ (แอลเอ็นจี) มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดต้องผ่านทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ว่าทะเลจีนใต้จะเป็นแหล่งน้ำมันที่สำคัญ ซึ่งอาจมีน้ำมันอยู่มากถึง 11,000 ล้านบาร์เรล

ที่มา: Asian Correspondent


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :