ไม่พบผลการค้นหา
ดัชนีนิติรัฐ 2017-2018 ประเมินการปกครองด้วยหลักกฎหมาย ชี้สถานะไทยร่วง 7 อันดับ อยู่ที่ 71 จากทั้งหมด 113 ประเทศทั่วโลก ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย

องค์กรรณรงค์เพื่อความยุติธรรม ชื่อ World Justice Project (WJP) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ออกรายงานประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับการปกครองด้วยหลักกฎหมายของเขตปกครอง 113 แห่ง

รายงานที่มีชื่อว่า WJP Rule of Law Index 2017-2018 นำเสนอดัชนีชี้วัดระดับของการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมของรัฐบาลทั่วโลก โดยพิจารณาจากปัจจัยรวม 8 ประการ

ปัจจัย 8 ประการ ประกอบด้วย (1) การจำกัดอำนาจของรัฐบาล (2) การทุจริตประพฤติมิชอบ (3) การเปิดกว้างของการปกครอง (4) สิทธิขั้นพื้นฐาน (5) การรักษาความสงบและความมั่นคง (6) การบังคับใช้กฎหมาย (7) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และ (8) กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ดัชนีดังกล่าวมีการให้ค่าคะแนนแก่ประเทศต่างๆ โดยมีสเกลตั้งแต่ 0 ถึง 1 ทั้งนี้ ค่าคะแนนยิ่งเข้าใกล้ 1 หมายความว่า การปกครองของประเทศนั้นเป็นไปตามหลักนิติรัฐ

WJP_02.jpg

ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีความเป็นนิติรัฐสูงที่สุด 5 อันดับแรก คือ เดนมาร์ก (คะแนน 0.89) นอร์เวย์ (0.89) ฟินแลนด์ (0.87) สวีเดน (0.86) และเนเธอร์แลนด์ (0.85)

ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เท่าที่มีการสำรวจนั้น สิงคโปร์มาเป็นอันดับหนึ่ง (คะแนน 0.80) ตามด้วยมาเลเซีย (0.54) อินโดนีเซีย (0.52) ประเทศไทย (0.50) เวียดนาม (0.50) ฟิลิปปินส์ (0.47) เมียนมา (0.42) และกัมพูชา (0.32)

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่อันดับถดถอยมากที่สุดในภูมิภาค โดยอันดับลดลงจากช่วงเวลา 12 เดือนก่อนหน้าถึง 18 อันดับ ในขณะที่ไทยและเวียดนามลดลง 7 อันดับ

สำหรับประเทศไทย รายงานระบุว่า สถานะการปกครองด้วยหลักนิติรัฐของไทย อยู่ในอันดับที่ 71 จากทั้งหมด 113 เขตปกครองทั่วโลก

ในช่วงปี 2017 ปัจจัยชี้วัดที่ไทยทำคะแนนได้สูงที่สุด คือ ความมั่นคง (0.69) แต่ไทยทำคะแนนได้ต่ำที่สุดในด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (0.40).

อ่านเพิ่มเติม: